AB Testing เครื่องมือสำคัญสำหรับการตลาดออนไลน์

Digimusketeers, 7 January 2022

เมื่อธุรกิจของคุณโลดแล่นอยู่บนเส้นทางออนไลน์มาได้ระยะหนึ่ง ทุกอย่างก็อาจจะเริ่มอยู่ตัวทั้งจำนวนคนเข้าเว็บและยอดขาย ซึ่งบางทีการที่ทุกอย่างเริ่มนิ่งไม่ได้เติบโตอย่างน่าตื่นเต้นอีกต่อไปอาจจะเป็นสัญญาณบอกว่าคุณต้องเริ่มมองหาวิธีพัฒนาองค์ประกอบของเว็บไซต์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่ม Conversion rate และเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจแล้วก็ได้ และวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบนหน้าเว็บให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกได้โดยไม่ต้องเดาสุ่มแบบไร้ทิศทางก็คือการทำ A/B Testing นั่นเอง เนื่องจากวิธีนี้คุณจะต้องใช้ข้อมูลและสถิติจากผู้ใช้งานจริงมาเป็นเครื่องชี้วัด ไม่ใช่สักแต่ว่าอยากเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนตามใจเจ้าของเว็บหรือคนออกแบบ ด้วยเหตุนี้การทดสอบ A/B testing จึงมีความน่าสนใจมากในแง่ของการทำการตลาดออนไลน์ และในบทความนี้เราจะมาพูดถึง A/B testing กันสักหน่อยเผื่อว่าคุณผู้อ่านของเราจะได้ไอเดียที่เป็นประโยชน์ไปใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ต่อไป

https://vwo.com/ab-testing/

AB Testing คืออะไรและทำงานอย่างไร

AB Testing หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า Split Testing เป็นวิธีการทดสอบเพื่อเปรียบเทียบหน้าเว็บหรือแอปพลิเคชันในรูปแบบที่แตกต่างกันสองเวอร์ชั่น โดยใช้วิธีการสุ่มให้ผู้เข้าชมเว็บหรือผู้ใช้งานแอปฯ บางส่วนเป็นผู้ตัดสิน จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติและพิจารณาว่าเวอร์ชั่นไหนทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าสำหรับเป้าหมายที่วางไว้ คือสามารถสร้าง Conversion ได้มากกว่า เช่น มีคนคลิกมากกว่า มีการซื้อสินค้ามากกว่า หรือมีการลงทะเบียนมากกว่า  ซึ่งในการทดสอบ A/B นี้จะมีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็นสองกลุ่มเท่า ๆ กัน กลุ่มแรกจะเห็นหน้าเว็บแบบ A ในขณะที่กลุ่มสองจะเห็นหน้าเว็บแบบ B ที่มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างให้แตกต่างออกไปของเดิม โดยความแตกต่างของหน้าเว็บ A และ B อาจจะต่างกันที่คำที่ใช้ในการเขียนพาดหัว สไตล์การเขียนและรูปแบบในการจัดวางเนื้อหาด้านใน การใช้ฟอร์มในลักษณะต่าง ๆ สีและขนาดของปุ่ม CTA การแสดงความคิดเห็นจากผู้ใช้ โดยอาจจะต่างเพียงจุดใดจุดหนึ่งที่กล่าวมาหรืออาจจะมีดีไซน์ของหน้าเว็บที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยก็ได้

ประเภทของการทำ AB Testing

การทดสอบ AB Testing สามารถทำได้หลายแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่

ab testing

https://www.optimizely.com/optimization-glossary/ab-testing/

   #1 การทดสอบแบบคลาสสิก (Classic A/B Test)

อันนี้คือการทดสอบแบบดั้งเดิมที่ตัวควบคุม (A) และตัวแปร (B) มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยและหน้าเว็บทั้งสองรูปแบบนี้จะถูกส่งให้กับผู้ใช้งานภายใต้ URL เดียวกัน

   #2 การทดสอบแบบแยกส่วน (Split Test)

ในการทดสอบแบบแยกส่วนมักจะมีการแยก URL ของหน้าเว็บทั้งสองแบบออกจากกันไปเลย เหมาะสำหรับใช้เมื่อตัวควบคุม A และตัวแปร B มีความแตกต่างกันหลายจุดโดยเฉพาะในเรื่องของดีไซน์การออกแบบ

   #3 การทดสอบแบบหลายตัวแปร (Multivariate or MVT Test)

ใช้เมื่อต้องการทดสอบหลายตัวแปรในหน้าเว็บพร้อม ๆ กันทีเดียว เช่น คุณอาจจะมีการแก้ไขทั้งสีของแบนเนอร์ สีของข้อความ และการจัดวางองค์ประกอบ ซึ่ง MVT Test นี้จะมีความซับซ้อนกว่า A/B Test ทั่วไปและเนื่องจากจำนวนของตัวแปรที่เพิ่มเข้ามาทำให้ต้องมีจำนวนสมมุติฐานที่มากขึ้นตามไปด้วย การทดสอบลักษณะนี้จึงเหมาะสำหรับใช้ในการทำการตลาดขั้นสูง

สรุปขั้นตอนคร่าว ๆ ในการทำ A/B Testing

   #1 หาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการทดสอบ

โดยอาจเริ่มจากมองหาหน้าเว็บที่มี Conversion ต่ำหรือมีอัตราการออกจากหน้าเว็บสูง หรือใช้วิธีทำแบบสอบถามความคิดเห็นจากผู้ใช้โดยตรงก็ได้

   #2 ตั้งสมมุติฐาน

เช่น หากเปลี่ยนจุดนี้ใน A ให้เป็นแบบใน B น่าจะเพิ่ม Conversion ได้ 1-3%

   #3 สร้างตัวแปร

เบื้องต้นควรออกแบบการทดสอบให้มีแค่หนึ่งตัวแปรก่อน

   #4 กำหนดระยะเวลาและเริ่มทดสอบ

ระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำคือ 1-2 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นให้คำนึงถึงขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นหลัก

   #5 วิเคราะห์ผล

คุณอาจจะใช้แค่รายงานที่ได้จากเครื่องมือในการทำ A/B Testing เพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแนะนำให้ใช้ Google Analytics เสริมอีกเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของคนทั้งสองกลุ่มอย่างละเอียด

ทำไมจึงควรทำ AB Testing

นอกจากจะช่วยยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งานเว็บแล้ว การทำการทดสอบ A/B Testing ยังทำให้ธุรกิจสามารถรวบรวมผลลัพธ์ สร้างสมมุติฐาน ทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานและสามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับปรุงเว็บได้อย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งไม่ว่าเว็บของคุณจะเป็นเว็บประเภทไหนก็สามารถใช้ประโยชน์จากการทดสอบนี้ได้ทั้งสิ้น และต่อไปนี้คือประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับจากการทำ A/B Testing

#1 ทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดกับผู้เข้าชมเว็บไซต์

ผู้เข้าชมเว็บบางกลุ่มอาจจะรู้สึกว่าเนื้อหาที่อยู่ในเว็บไม่ชัดเจน อ่านแล้วงง หรือบางกลุ่มอาจจะหาปุ่ม CTA เพื่อกดสั่งซื้อหรือขอใบเสนอราคาไม่เจอ ซึ่งเมื่อคุณค้นพบปัญหาเหล่านี้ในขณะที่ทำการทดสอบคุณก็จะสามารถปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บให้ดีขึ้นได้

#2 เพิ่มผลตอบแทน (ROI) จากการที่มีคนเข้าเว็บมากขึ้น

การทำ A/B Testing จะช่วยเพิ่มจำนวนการเข้าชมเว็บ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจมีรายได้และผลกำไรเพิ่มมากขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

#3 ลดอัตราจำนวนคนที่เข้าเว็บแล้วออกเลยทันที

การทำ a/b testing จะช่วยให้พบวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่บนหน้าเว็บปัจจุบัน เช่น การมีตัวเลือกที่มากเกินไป การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความคาดหวัง และการใช้ศัพท์เทคนิคที่ทำให้คนอ่านแล้วเกิดความสับสน ผลลัพธ์ที่ได้คือคนจะใช้เวลาอยู่ในเว็บมากขึ้น ซึ่งช่วยลด Bounce rate หรือจำนวนคนที่เข้าเว็บแล้วออกเลยได้ แถมยังอาจเพิ่มโอกาสในการซื้อสินค้าได้อีกต่างหาก

#4 ลดการปรับเปลี่ยนที่ไม่จำเป็น

เมื่อคุณบอกว่าคุณตัดสินใจที่จะเปลี่ยนรูปโฉมหน้าเว็บปัจจุบันใหม่ทั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะบอกให้คุณลองทำการทดสอบ A/B Testing เพื่อหาจุดที่ควรเปลี่ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ ดูก่อน เพราะบางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเว็บได้โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลารื้อทั้งหมดก็ได้

#5 ตัดสินใจปรับเปลี่ยนได้ง่ายเพราะมีสถิติให้เห็นชัดเจน

คุณไม่ต้องคาดเดา ใช้ความรู้สึก หรือสัญชาตญาณในการทำ a/b testing เลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำภายใต้ตัวเลขที่มีนัยสำคัญทางสถิติ เช่น เวลาที่คนเข้ามาดูหน้าเว็บแต่ละหน้า จำนวนการคลิกปุ่ม CTA  และจำนวนสินค้าที่ใส่รถเข็นไว้แต่ไม่ซื้อ

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า A/B Testing ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนเลยและผลลัพธ์ที่ได้นั้นถือว่าคุ้มค่ามาก หากคุณต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ A/B Testing หรือการตลาดออนไลน์รูปแบบอื่น ๆ สามารถติดต่อทีมงานของเราได้ที่ Digimusketeers

=========

ข้อมูลจาก

https://www.optimizely.com/optimization-glossary/ab-testing/

https://vwo.com/ab-testing/

https://www.abtasty.com/ab-testing/

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก