Google Tag Manager (GTM) คืออะไร

Digimusketeers, 6 January 2022

Google Tag Manager เป็นบริการฟรีอีกหนึ่งอย่างจาก Google สำหรับใครที่เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกก็ไม่ต้องคิดว่าตัวเองเชยหรือตกข่าวแต่อย่างใด เพราะ GTM ออกจะแตกต่างไปจากบริการอื่น ๆ ของกูเกิลอย่าง Chrome, Gmail, Google Photos, Google Translate ฯลฯ ที่คนทุกสายอาชีพต่างมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และโดยมากแล้วผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการตลาดดิจิทัลหรือมีอาชีพเกี่ยวกับการทำเว็บโดยตรงก็จะไม่รู้จัก Google Tag Manager กันเท่าไหร่นัก เพราะว่า Google Tag Manager คือเครื่องมือหรือระบบจัดการแท็ก ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานอัปเดตชุดโค้ดติดตามการทำงานต่าง ๆ ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่าแท็กให้เข้าไปทำงานอยู่ในเว็บไซต์หรือแอปของธุรกิจเพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลที่ต้องการได้โดยไม่ต้องอาศัยความรู้ในการเขียนโค้ด

https://marketingplatform.google.com/about/tag-manager/


หรือหากพูดให้ง่ายขึ้น แท็กก็คือโค้ด และโค้ดเหล่านี้ถูกใช้เพื่อติดตามเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าที่เข้ามาในเว็บไซต์หรือแอปของเรานั่นเอง ซึ่งคุณอาจจะอยากรู้ว่ามีคนเข้ามาหยิบของใส่ตะกร้าแต่ไม่ได้ซื้อจำนวนเท่าไหร่ หรือหน้าเว็บแต่ละหน้ามีจำนวนคนเข้าชมมากน้อยขนาดไหน และเรื่องพวกนี้แหละที่ Tag Manager ซึ่งเป็นเครื่องจัดการแท็กสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคุณได้

ซึ่งภายหลังจากที่ติดตั้งเครื่องจัดการแท็กเสร็จแล้ว เว็บไซต์หรือแอปของคุณก็จะเชื่อมโยงกับเซิร์ฟเวอร์ของ Google Tag Manager ผ่านอินเทอร์เฟซของ GTM ซึ่งง่ายต่อการใช้งาน ทีนี้เจ้าของเว็บและนักการตลาดที่ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ก็สามารถติดแท็ก เช็คความเรียบร้อย ตลอดจนเริ่มใช้งานโค้ดพื้นฐานอย่าง Google Analytics, Facebook Pixel หรือโค้ดอื่น ๆ ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยนอกเหนือจากแท็กสำหรับ Google Ads, Google Analytics, Google Consumer Surveys, และโฆษณา Microsoft Bings แล้ว GTM ยังมีเทมเพลตของแท็กอื่น ๆ ให้เลือกอีกมากมายทีเดียว

รูปภาพ: ตัวอย่างแพลตฟอร์มและฟังก์ชันแท็กที่ GTM รองรับ

Google Tag Manager

ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำไม Google Tag Manager จึงเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ได้รับความนิยม

  •       ฟรี
  •       อินเทอร์เฟซออกแบบมาให้ใช้งานง่าย
  •       ช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน
  •       ทำหน้าที่เหมือนคอนเทนเนอร์ที่รวมแท็กทุกอย่างไว้ในที่เดียว
  •       ประหยัดเวลา ทรัพยากร และค่าใช้จ่าย
  •       เหมาะกับผู้ที่อยู่ในสายงานการตลาดที่ไม่มีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดมากนัก หรืออาจจะยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงเว็บไซต์หรือแอปของลูกค้า

 

นอกเหนือจากที่ทำมาให้ใช้ฟรีแล้ว GTM ก็ยังมีข้อดีที่โดดเด่นตรงที่ออกแบบมาให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ไม่ยากด้วย เมื่อก่อนนี้เวลาที่เจ้าของเว็บไซต์ต้องการทำแคมเปญการตลาดดิจิทัลที่ต้องอาศัยการวัดผลและเครื่องมือต่าง ๆ มากมาย อาทิ Google Analytics, Facebook Pixel, และ Google Ads Remarketing แต่ทั้งเจ้าของเว็บและนักการตลาดดันไม่มีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดเลยแม้แต่น้อย ก็อาจจะต้องไปไหว้วานให้นักพัฒนาเว็บหรือโปรแกรมเมอร์เข้ามาดูแลเรื่องการติดตั้งโค้ดในเว็บให้ ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการแต่ละครั้งก็อาจต้องใช้เวลาในการสื่อสารและรอคอยนานมากเพราะโปรแกรมเมอร์เขาก็มีงานของตัวเองล้นมืออยู่แล้ว และยิ่งถ้าเป็นการจ้างแบบฟรีแลนซ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะจะตามหาตัวในภายหลังได้ยากมาก ซึ่งเครื่องจัดการแท็กของกูเกิลตัวนี้ไม่เพียงช่วยให้นักพัฒนาสามารถติดตั้งแท็กให้คุณได้ง่ายและเร็วขึ้น (ในกรณีที่ยังต้องให้พวกเขาทำให้อยู่) แต่ยังช่วยให้ทั้งเจ้าของเว็บและนักการตลาดสามารถจัดการกับแท็กทั้งหมดที่ต้องการใช้ได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดมากนักก็ตาม

อีกทั้ง GTM ยังเป็นเครื่องมือที่มีความแม่นยำในการสร้างโค้ดมากกว่าคนเสียอีก และอินเทอร์เฟซก็ยังถูกออกแบบมาให้ง่ายต่อการจัดการด้วยเพราะรวมแท็กทุกอย่างไว้ด้วยกันอย่างเป็นระเบียบ ลองนึกดูว่าถ้าคุณมีการขอให้โปรแกรมเมอร์ติดตั้งแท็กจำนวนมากไว้ในโค้ดของเว็บโดยตรงแบบไม่ใช้ GTM พอเวลาผ่านไปนานเข้าจะมาแก้ไขกันอีกที ทุกฝ่ายก็คงจะลืมไปหมดแล้วว่าเคยทำอะไรกันเอาไว้บ้าง ดังนั้น GTM จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยประหยัดได้ทั้งเวลา ทรัพยากร และรายจ่าย เพราะเมื่อติดตั้ง GTM ลงในเว็บไซต์หรือแอปเรียบร้อยแล้ว (ทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น)  เวลาที่จะทำแคมเปญใหม่ ๆ ผู้ใช้ก็สามารถกำหนดค่าแท็กต่าง ๆ ผ่านทางอินเทอร์เฟซได้เองทันทีโดยที่ไม่ต้องรอให้นักพัฒนามาช่วยจัดการให้ และไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับโค้ดของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอีก

3 องค์ประกอบหลักในการทำงานของ Google Tag Manager 

https://support.google.com/tagmanager/answer/6103696

#1 แท็ก (Tags)

แท็กคือโค้ดที่สั่งระบบให้ทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เช่น Google Analytics ใช้แท็กเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคนเข้าเว็บ แท็กนี้จึงมีหน้าที่ติดตามเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการทำโฆษณาในอนาคต โดย GTM จะช่วยให้คุณสร้างและใช้แท็กต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องเขียนโค้ดเอง

#2 ทริกเกอร์ (Triggers)

ทริกเกอร์คือเงื่อนไขที่กำหนดลักษณะการทำงานของแท็ก เช่น ทริกเกอร์การดูหน้าเว็บจะเป็นตัวกำหนดให้แท็กเก็บข้อมูลคนที่เข้ามาในทุกหน้าของเว็บหรือเฉพาะบางหน้าก็ได้ ส่วนทริกเกอร์การคลิกจะเก็บข้อมูลว่ามีคนคลิกปุ่มไหนบ้าง และทริกเกอร์การส่งแบบฟอร์มจะกำหนดการเก็บข้อมูลในการกรอกแบบฟอร์ม

#3 ตัวแปร (Variables)

ตัวแปรเป็นตัวช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานอีกทีหนึ่ง ซึ่งถูกนำไปใช้ทั้งในแท็กและทริกเกอร์ โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือตัวแปรบิวท์อินที่ระบบมีมาให้ เช่น Click, Page, Form, Utility เป็นต้น และตัวแปรที่กำหนดโดยผู้ใช้

สำหรับการสมัครใช้งาน Google Tag Management นั้นก็ไม่ยากเลย เพียงเข้าไปลงทะเบียนที่ tagmanager.google.com และตั้งค่าตามขั้นตอนก็สามารถเริ่มต้นใช้งานได้แล้ว และถ้าใครต้องการอ่านวิธีการสร้างและติดตั้งแท็กแบบละเอียดก็สามารถดูได้ที่นี่ หรือจะเลือกดูเป็นวิดีโอก็ยังได้ ซึ่งทางกูเกิลได้ทำเพลยลิสต์การเริ่มต้นใช้งาน Google Tag Manager แบบละเอียดเอาไว้ให้ด้วย ###

 

==================

ข้อมูลจาก

https://www.semrush.com/blog/beginners-guide-to-google-tag-manager/

https://blog.hubspot.com/marketing/google-tag-manager-guide

https://www.analyticsmania.com/post/google-tag-manager-tutorial-for-beginners/

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก