ธุรกิจคาเฟ่แถบเอเชียบูม

ธุรกิจคาเฟ่แถบเอเชียบูม ทั่วโลกจับตามองว่าเป็นศูนย์กลางกาแฟโลก

Digimusketeers, 11 October 2022

เมื่อวันที่ 21-24 เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมามีการจัดงาน Food & Hospitality Thailand 2022 เป็นงานแสดงสินค้าด้านอาหาร กาแฟและการบริการจากทั่วโลก ทางผู้จัดงานคุณ สุภาภรณ์ อังศรีสุรพร ได้กล่าวว่า เทรนด์ธุรกิจคาเฟ่อย่างกาแฟและเบเกอรี่นั้นได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการและนักลงทุน ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งของปี 65 อีกด้วย และยังคาดว่ามูลค่าการตลาดรวมจะสูงถึง 90,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนของธุรกิจกาแฟอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท และธุรกิจเบเกอรี่อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท โตขึ้นปีละประมาณ 7% เลยทีเดียว

ในอดีตแถบประเทศเอเชียนั้นมีวัฒนธรรมการดื่มชามาแต่ไหนแต่ไร และได้เพิ่มเครื่องดื่มคาเฟอีนอย่างกาแฟเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในภายหลัง ซึ่งเป็นเส้นทางสู่การทำเงินที่มหาศาลในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลขององค์การกาแฟโลกบอกว่าอัตราการบริโภคกาแฟในแถบภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นถึง 1.5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับยุโรปและสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 0.5% และ 1.2% ทำให้เอเชียเป็นที่จับตามองของทั่วโลกว่าอาจกลายเป็นศูนย์กลางกาแฟโลกหรือธุรกิจคาเฟ่ในอนาคต 

โดยจะมีอยู่ 5 ประเทศในแถบเอเชียที่มีการควบรวมของวัฒนธรรมการดื่มชาและกาแฟจนนำไปสู่สังคมแห่งการบริโภคกาแฟที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนธุรกิจคาเฟ่ให้เติบโตขึ้น ไปดูกันว่ามีประเทศไหนบ้าง และมีความเป็นมาอย่างไร

 

ธุรกิจคาเฟ่เอเชีย

ธุรกิจคาเฟ่สุดบูมใน 5 ประเทศแถบเอเชีย

1. เวียดนาม

กลายเป็นประเทศที่ส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับสองรองจากบราซิล แต่ก็ถือว่าเป็นรายใหญ่ที่สุดในแถบเอเชียเลยนะ กาแฟเริ่มถูกนำเข้ามาปลูกในเวียดนามตั้งแต่ยุคอาณานิคมฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 19 มีการดริปกาแฟจากกระป๋องอะลูมิเนียมใส่นมข้นหวานที่เห็นกันบ่อย ๆ ในร้านรถเข็นริมทางนั่นเอง ซึ่งยุคนี้ก็ยังมีให้เห็นกันทั้งร้านรถเข็นและธุรกิจคาเฟ่ทั่วประเทศที่เพิ่มมาด้วยความพิถีพิถันในการคัดเลือกเมล็ดกาแฟมากขึ้น

แต่เดิมผู้ปลูกกาแฟในเวียดนามจะเน้นแค่การส่งออกกาแฟ พยายามพัฒนาคุณภาพของเมล็ดกาแฟให้ได้มากที่สุดเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่ผู้ผลิตในยุคใหม่นี้ไม่ได้เน้นแค่การส่งออกกาแฟเท่านั้น แต่ยังทำเป็นธุรกิจคาเฟ่เพื่อดึงลูกค้าท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวอีกด้วย

2. อินโดนีเซีย

มีจุดเริ่มต้นมากจากเนเธอร์แลนด์ ผู้เคยเป็นอดีตอาณานิคมได้นำกาแฟมาปลูกอย่างแพร่หลายในอินโดนิเซีย จนทำให้ประเทศนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกกาแฟเป็นอันดับที่สองของเอเชียและใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก และยังมีการเข้ามาแบรนด์ที่เป็นธุรกิจคาเฟ่ต่างประเทศด้วย บวกกับคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการสูงขึ้น และยังหันมาทำด้วย ยกตัวอย่างเช่น คาเฟ่ ‘Kopikalyan’ ที่มีเจ้าของเป็นนักเรียนนอกที่จบด้านการเงินจากออสเตรเลีย ขยายธุรกิจไปถึง 3 สาขาจากการ์ตา และพึ่งมีสาขาที่โตเกียวเมื่อปลายปี 2020 โดยทางร้านใช้เมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่เป็นผลผลิตจากประเทศตัวเอง คัดจาก 8 พื้นที่ปลูกเลยทีเดียว

อีกความน่าสนใจก็คือภูมิประเทศของอินโดนีเซียนั้นมีหมู่เกาะมากมาย ทำให้กาแฟที่ได้มานั้นมีรสชาติหลากหลายจึงกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้กาแฟในประเทศนี้ได้รับความนิยม และด้วยกฎของประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมถึงร้อยละ 90 ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มเพื่อเข้าสังคมไปโดยปริยาย

3. จีน

แม้จะเป็นชาตินิยมแต่ด้วยความที่มีธุรกิจคาเฟ่จากต่างชาติเข้ามาเยอะ เช่น Starbucks หรือ Costa Coffee ในช่วงปลาย 1990 ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ดื่มกาแฟมากขึ้น ทำให้มีธุรกิจคาเฟ่ท้องถิ่นของจีนผุดขึ้นตามมาเพียบจนจีนก็กลายเป็นอีกประเทศที่มีสังคมการดื่มกาแฟอย่างกว้างขวาง โดยผู้บริโภคกลุ่มใหญ่คือหนุ่มสาววัยทำงานที่พักอยู่ในเมืองและมีกำลังซื้อสูง 

ข้อมูลจากปี 2021 บอกว่าเซียงไฮ้ถูกจัดอันดับว่าเป็นเมืองที่มีร้านกาแฟแบบ stand-alone มากที่สุดในโลกถึง 6,913 ร้าน เทียบกับโตเกียวที่มี 3,826 ร้าน ลอนดอนมี 3,233 และนิวยอร์กมี 1,519 ร้าน และยังคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟในจีนจะเติบโตในอัตรา 27% ต่อปีและมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านหยวนในปี 2025

4. ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องวัฒนธรรมการดื่มชามาตั้งแต่โบราณ แต่รู้ไหมว่านี่ก็เป็นอีกประเทศที่มีธุรกิจคาเฟ่และตลาดกาแฟที่ใหญ่มาก ในปี 2020 ยอดขายกาแฟมีมูลค่าสูงถึง 34,450 ล้านดอลลาร์ ประธานสมาคมกาแฟสเปเชียลตี้ของญี่ปุ่นอย่าง ซาฮิโร คันโนะ บอกว่าชายังคงเป็นเครื่องดื่มหลัก แต่ก็มีคนดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นจนความนิยมอาจแซงหน้าชาไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดื่มกาแฟมากกว่าชาเสียอีก

สมาคมผู้ผลิตชาญี่ปุ่นเผยข้อมูลว่า ในปี 2019 การบริโภคการแฟในญี่ปุ่นมีเพิ่มขึ้นถึง 5.8% อยู่ที่ 452,903 ตัน และยังมีอีกปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ตลาดกาแฟญี่ปุ่นโตไวขึ้นก็อยู่ในช่วงปี 2010 อย่างบริการกาแฟตามสั่งในร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่เป็นเมล็ดกาแฟ อุปกรณ์สำหรับชงกาแฟเองที่บ้านก็ขายดีอีกด้วย รวมถึงอุตสาหกรรมกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มที่มีมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้จึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมาก ๆ 

5. เกาหลีใต้

เป็นประเทศที่พูดได้ว่ามีการบริโภคกาแฟสูงสุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับจำนวนการบริโภคกาแฟต่อคน ซึ่งมากกว่า 300 แก้วต่อคนต่อปีเลยทีเดียว แซงหน้าสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและจีนไปแล้ว ทำให้ตลาดกาแฟและธุรกิจคาเฟ่เติบโตเร็วขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

ซึ่งคาเฟ่ในเกาหลีใต้นั้นเป็นเหมือนแหล่งพบปะ พูดคุยของเหล่าผู้บริโภคนอกจากที่ทำงาน เราเลยมักเห็นชาวเกาหลีอยู่ตามคาเฟ่ต่าง ๆ เป็นเวลานาน เพราะพวกเขามักใช้เป็นที่คุยงาน ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือนั่นเอง โดยในปี 2021 มีการนำเข้ากาแฟมากถึง  916 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟจะขยายตัวมีมูลค่าสูงถึง 9 ล้านล้านวอน (7,500 ล้านดอลลาร์) ในปี 2023 ที่เป็นผลจากความนิยมของผู้บริโภคที่ทำให้กาแฟเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปแล้ว

 

เทรนด์ธุรกิจคาเฟ่มาแรง

เทรนด์ธุรกิจคาเฟ่มาแรง

เทรนด์ปี 2022 มีธุรกิจคาเฟ่ไหนมาแรงแซงโค้งกันบ้าง ผู้ประกอบการไม่ควรพลาดเลย

Specialty Coffee

ถ้าพูดถึงธุรกิจคาเฟ่ที่เป็นร้านแบบ Specialty Coffee คอกาแฟต้องหันมามองอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาต้องการดื่มกาแฟที่มีคุณภาพ และคาเฟ่แนวนี้ยังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แค่ชื่อก็รู้สึกว่าพิเศษกว่าร้านกาแฟทั่วไปแล้วใช่ไหมล่ะ แต่ถ้าอยากเสริมภาพลักษณ์ให้คาเฟ่ Specialty Coffee ขึ้นไปอีกก็คือการใส่ใจสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืนของโลกที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ยังมีกาแฟอีกประเภทที่พึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น คือ ‘กาแฟซิงเกิ้ล ออริจิ้น’ เป็นกาแฟสายพันธุ์เดียวและจากแหล่งปลูกเดียวกัน ผลิตได้น้อยในแต่ละครั้ง แต่เป็นแหล่งปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กาแฟเดลิเวอรี่สำหรับสมาชิก

ผลจากที่ผู้บริโภคต้องกักตัวอยู่บ้านนานทำให้กระแสเดลิเวอรี่นั้นมาแรง ไม่ใช่แค่อาหารเท่านั้น แต่ยังไปถึงกาแฟด้วย ทำให้โมเดลธุรกิจกาแฟแบบ Subscription เกิดขึ้นและมีกระแสตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในสหรัฐฯ ในตอนนี้เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมาก ๆ แต่ในแถบเอเชียบ้านเรายังมีน้อย แต่ในอนาคตก็ไม่แน่นะ

กาแฟพร้อมดื่ม

ธุรกิจกาแฟแบบ Ready to drink นั้นยังคงมีอัตราการเติบโตอยู่เรื่อย ๆ และยังคงเป็นไปด้วยดี เพราะหาซื้อง่าย สะดวกสบายสำหรับคนวัยทำงานที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ไม่จำเป็นต้องเข้าร้านกาแฟเสียเวลาต่อคิวซื้อ และตัวผู้ประกอบการก็ยังคงพัฒนาสินค้าให้ดึงดูดผู้บริโภคอยู่ตลอด โดยเมนูยอดฮิตจะเป็นพวก กาแฟสกัดเย็นแบบขวดหรือกาแฟไนโตรแบบกระป๋อง

อุปกรณ์สำหรับชงกาแฟที่บ้าน

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องอยู่บ้าน แต่ก็ยังคงทำงานกันเป็นปกติ แน่นอนว่าตื่นเช้ามาทำงานก็ต้องการกาแฟ แต่ออกไปซื้อไม่ได้ หรือบางคนก็สั่งเดลิเวอรี่บ่อยจนคิดว่าเปลืองเงิน เลยหันมาลงทุนซื้ออุปกรณ์สำหรับชงกาแฟดื่มเองที่บ้านซะเลย ส่งผลให้ตลาดอุปกรณ์กาแฟนั้นเติบโตขึ้นและกลายเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

 

แม้ว่าธุรกิจคาเฟ่ในแถบเอเชียจะมีกระแสตอบที่ดีมาก แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องระวังอยู่ด้วย อย่างเมล็ดกาแฟที่จะมีการขึ้นราคา ซึ่งผู้เขียนมองว่าประเทศไทยก็มีคาเฟ่อยู่มากพอสมควรนะ และด้วยความที่เป็นประเทศท่องเที่ยว ในอนาคตก็ไม่แน่ว่าไทยอาจกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ธุรกิจคาเฟ่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศได้ดีด้วย

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก