Fast Fashion | Digimusketeers

การปรับตัวของ Fast Fashion ในวันที่โลกไปเร็วกว่า

Digimusketeers, 27 August 2021

ทราบหรือไม่ว่าแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นส่วนใหญ่ใช้เวลาราว 5-6 สัปดาห์ในการผลิตและออกวางจำหน่ายหน้าร้าน โดยมีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดทุกสัปดาห์ เป็นแรงดึงดูดให้ลูกค้าเข้าเยี่ยมชมสินค้าใหม่บ่อยขึ้น และตัดสินใจซื้อเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ ซึ่งอายุการใช้งานของเสื้อผ้าเหล่านี้จะสั้นลงมาก โดยเราเรียกโมเดลธุรกิจนี้ว่า Fast Fashion ที่เน้นการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายในจำนวนน้อย เพื่อลดความเสี่ยงด้านการจัดการสินค้าในคลัง

โมเดลธุรกิจของ Fast Fashion พึ่งพาการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ตอบสนองความรวดเร็วต่อธุรกิจแฟชั่น มีกระบวนการผลิตที่สามารถผลิตได้ในราคาต่ำ และนำเสนอสินค้าใหม่ได้ทุกสัปดาห์ ซึ่งแตกต่างจาก Luxury Brand ที่มีกำหนดการออกคอลเลคชั่นใหม่ตามฤดูกาล เมื่อนับตามความถี่ของการวางจำหน่ายเสื้อผ้าใหม่ แน่นอนว่า Fast Fashion นำโด่งอย่างแน่นอน

จุดเริ่มต้นของ Fast Fashion เกิดจากความต้องการด้านแฟชั่นอย่างรวดเร็ว โดยในยุคก่อนมีแค่ชนชั้นสูงหรือคนรวยเท่านั้นที่เข้าถึงเสื้อผ้าแฟชั่น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น เข้าถึงเทรนด์เสื้อผ้าใหม่ๆ ได้เร็วกว่าเดิม ทำให้ผู้คนรู้สึกอยากมีเสื้อผ้าเหล่านี้ไว้ในครอบครอง เมื่อมีดีมานด์มากขึ้น ผู้ผลิตก็เพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย จนทำให้เสื้อผ้ามีราคาที่จับต้องได้ และเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย
ทว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ทั่วโลกเข้าสู่สภาวะไม่แน่นอน กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงอย่างชัดเจน และในบางประเทศที่คลายล็อกดาวน์แล้ว ผู้บริโภคก็ไม่ได้ใช้จ่ายเท่าเดิม ยังอยู่ในโหมดรัดเข็มขัดกันไปยาวๆ จนกว่าจะรู้สึกมั่นคง

นอกจากต้องปิดหน้าร้านอย่างไม่มีกำหนดเปิดแล้ว หากเจาะลึกลงไป Fast Fashion ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คิด เพราะผลิตสินค้าอย่างรวดเร็ว มีหลายแบบหลายสไตล์ จึงมีสินค้าในคลังเป็นจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจแฟชั่นต้องปรับตัวให้เร็วกว่าธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้เจ็บน้อยที่สุด
ผลจากการเขย่าวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นของ Fast Fashion เป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้ง Luxury Brand และ Local Brand ก็ไม่อาจมองข้ามกระแสที่เกิดขึ้นได้ จึงต้องปรับตัวในเรื่องของความเร็วเป็นการใหญ่

อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกอุตสาหกรรมต้องเจอกับวิกฤต Covid-19 ธุรกิจ Fashion Retailers ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ ทั้งกำลังซื้อที่หายไป หน้าร้านต้องปิดชั่วคราว และไม่สามารถแคมเปญอีเวนท์นอกสถานที่ได้

Topshop ถอนตัวจากตลาดในไทย

ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Topshop Thailand ได้ประกาศผ่าน Facebook Page เพื่อแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าจะปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป แม้แบรนด์ Topshop ในไทยจะมีเพียง 4 สาขา ทว่าในเดือนพฤษภาคม 2562 Topshop ได้ประกาศปิดสาขาในสหรัฐฯ ไปกว่า 200 สาขา ซึ่งเป็นการปิดตัวไปตาม Arcadia Group บริษัทแม่ที่ปิดตัวไปก่อนหน้า 3 ปี สะท้อนถึงจุดเปลี่ยนของวงการแฟชั่นค้าปลีกยักษ์ใหญ่

H&M ปรับกลยุทธ์สู่ออนไลน์

สำหรับแบรนด์ H&M ก็ได้รับกระทบไม่ต่างกัน ได้ประกาศปิด 250 สาขาทั่วโลก หรือคิดเป็น 5% ของจำนวนสาขาที่มีประมาณ 5,000 สาขา เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แทน แบรนด์จึงหันมาพัฒนาการสื่อสารแบบบูรณาการระหว่างหน้าร้านกับออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

Shein ใช้เทคโนโลยีลดขั้นตอนผลิต ส่งสินค้าถึงมือลูกค้าไวขึ้น

เมื่อเทียบกับแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นอื่นๆ แล้ว Shein สามารถผลิตเสื้อผ้าออกสู่ตลาดได้ในเวลา 5-7 วัน หรือบางรายการใช้เวลา 3 วันเท่านั้น ทำให้มีสินค้าใหม่ได้หลัก 100 รายการต่อสัปดาห์ เหตุผลที่ทำให้ Shein ผลิตสินค้าได้เร็วมาจากการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีซัพพลายเออร์เป็นของตัวเอง จึงติดตามสินค้าและควบคุมการผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ

ที่สำคัญ Shein ยังเน้นการขายสินค้าออนไลน์เป็นหลัก จึงผลิตแล้วเปิดตัวกับลูกค้าได้ทันที เมื่อไม่ต้องวางจำหน่ายหน้าร้าน ก็ลดขั้นตอนอื่นไปได้มาก จึงตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็วกว่าแบรนด์ Fast Fashion อื่นๆ

นอกจากนี้ Shein ยังเชื่อมต่อข้อมูลที่ได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคจากช่องทาง e-Commerce เข้ากับระบบ Supply Chain Management (SCM) จะสามารถปรับการผลิตสินค้าที่มีเป็นหมื่นๆ รายการได้อัตโนมัติจากข้อมูลเรียลไทม์ จากช่องทางการขายออนไลน์ บวกกับการใช้เทคโนโลยี ทำให้ Shein ดึงดูดลูกค้าให้กลับมาชอปปิ้งในแพลตฟอร์มได้บ่อยขึ้น

Fast Fashion ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น Fast Fashion เป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นการขายเสื้อผ้าจำนวนมากในราคาถูก ซึ่งในกระบวนการผลิตล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการใช้ทรัพยากรดังกล่าวกระจายไปถึงเกษตรกรผู้ผลิตเส้นใย ภาคปศุสัตว์ที่ผลิตหนังและขนสัตว์ การขนส่งข้ามพรมแดน รวมถึงการใช้แรงงานราคาถูกเพื่อผลิตเสื้อผ้า

เข้าหาความยั่งยืนด้วยแนวคิด “Slow Fashion”

เมื่อ Fast Fashion กลายเป็นปรปักษ์กับสิ่งแวดล้อม จึงถือกำเนิดเทรนด์ “Slow Fashion” ที่เน้นการผลิตเสื้อผ้าแบบคงทนถาวร ใส่ได้นานๆ และมีกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลเสียให้สิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรมต่อทุกคน ปัจจุบันแบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion ในต่างประเทศก็มีหลายแบรนด์ หลายสไตล์แตกต่างกันไป

Gucci ตอบสนองเทรนด์ Slow Fashion

แบรนด์แฟชั่นหรูอย่าง Gucci ถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่มีการนำเอาระบบ EP&L มาใช้เพื่อวัดการปล่อยคาร์บอน ปริมาณการใช้น้ำ มลพิษทางอากาศและน้ำ การใช้ที่ดิน และการจำกัดของเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน เน้นความโปร่งใสอย่างเต็มที่ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกราย เป็นมาตรฐานในการวัดความก้าวหน้าการดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืน 10 ปีของ Gucci ระหว่างปี 2015 – 2025 ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนกลยุทธ์ โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับปีฐาน 2558 เรียกว่าโครงการรักษาป่า REDD+ ทั้งหมด 4 โครงการ

Gucci ยังไปไกลกว่านั้นด้วยการเปิดตัวสินค้าที่ผลิตด้วยเส้นใยไนลอนรีไซเคิลคุณภาพสูงที่ชื่อ ‘เอโกนิล’ (Econyl®) ซึ่งมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นเส้นใยรีไซเคิลไนลอนคุณภาพสูงที่ลักซ์ชัวรีที่สุดในปัจจุบัน

ในการประชุม G7 ปี ค.ศ.2019 ได้จัดตั้งโครงการ Fashion Pact ที่มุ่งเน้นให้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจแฟชั่นมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน โดยมีองค์กรแฟชั่นเข้าร่วมกว่า 32 องค์กร 150 แบรนด์ อาทิ Prada, Chanel, Hermes, H&M, Kering, Adidas, Nike และอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัท American Eagle Outfitters หรือ AEO Inc. ได้เปิดตัวร้านเสื้อผ้าและเครื่องประดับแบรนด์ใหม่ในย่าน East Hampton, นิวยอร์ก ในชื่อ “Unsubscribed” ภายใต้แนวคิด “consciously-made, slow fashion” โดยจะออกคอลเลคชั่นใหม่เพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น และไม่ใช่แค่เฉพาะขายแบรนด์ของตนเองเท่านั้น แต่ยังได้นำสินค้าจากแบรนด์อื่นเข้ามาวางจำหน่ายภายในร้านด้วย

เหตุผลที่หลายแบรนด์เลือกนำเสนอ Slow Fashion เพราะต้องการเน้น “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” หรือความถี่ในการออกสินค้าใหม่ ขณะเดียวกันการลดจำนวนการออกคอลเลคชั่นใหม่ต่อปียังสร้างผลดีกับบริษัทฯ ในด้านการบริหารต้นทุน สต็อกสินค้า และลดความเสี่ยงของการแบกรับสินค้าคงคลัง

แม้แบรนด์เสื้อผ้าทั่วโลกจะคำนึงถึงผลกระทบต่อโลกขนาดไหน ทว่า ในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะไม่ได้ช่วยมากขนาดนั้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยง Fast Fashion ได้ยาก โดยเฉพาะในยุคที่เสื้อผ้าส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน  เวียดนาม หรืออินโดนีเซียทำให้ราคาถูกกว่าเสื้อผ้าที่ผลิตในไทยเองด้วยซ้ำ การเปลี่ยนจาก Fast Fashion มาเป็น Slow Fashion จึงต้องใช้เวลา

หากแนวคิดเรื่อง Slow Fashion ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น เวลานั้นคงต้องตั้งคำถามต่อว่า เสื้อผ้าเหล่านี้จะเป็นทางออกที่ยั่งยืนให้อุตสาหกรรมเสื้อฟ้าแฟชั่นได้จริงหรือไม่

ข้อมูลจาก

https://www.prachachat.net/columns/news-709269

https://en.vogue.me/fashion/fast-fashion-2021-statistics/

https://www.brandbuffet.in.th/2020/07/slow-retail-trend/

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก