tokyo olympic2020 by digimusketeers

เจาะไอเทมรักษ์โลก Tokyo Olympic 2020

, 30 July 2021

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการใช้พลังงานหมุนเวียน ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมระดับโลกอยู่หลายครั้ง เพื่อไม่ให้โลกบอบช้ำไปมากกว่านี้ ในโตเกียวโอลิมปิก 2020 ในฐานะเจ้าภาพครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ประกาศว่า โตเกียว 2020 จะเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ภายใต้แนวคิด “Be better, together – for the planet and the people”
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นญี่ปุ่น แน่นอนว่าต้องใส่ใจทุกรายละเอียด ให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างถึงที่สุด ทุกสิ่งที่ทำจึงต้องจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การคัดเลือกวัสดุก่อสร้าง ความสมดุลทางเพศ อายุของอาสาสมัครในการแข่งขัน โดยญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายการจัดงานพร้อมกำหนดหัวข้อความยั่งยืนไว้ 5 ด้าน ดังนี้

  1. Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) โดยตั้งเป้าลดคาร์บอนฟรุตปรินส์จากการจัดงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ใช้รถยนต์เพื่อภารกิจของโอลิมปิกที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 80 กรัมต่อกิโลเมตร
  2. Resource Management (การบริหารจัดการทรัพยากร) เลือกใช้วัสดุหมุนเวียน นำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อมุ่งสู่ Zero waste เช่น ชุดยูนิฟอร์มที่ทำจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว เหรียญรางวัลทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ แท่นมอบรางวัล เตียงกระดาษรีไซเคิล เป็นต้น
  3. Natural Environment and Biodiversity (ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ) ลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อมาใช้เป็นวัสดุในโอลิมปิก ใช้แนวคิดยืมไม้จากอุตสาหกรรมไม้ทั่วประเทศ และลดการนำเข้าไม้จากต่างประเทศ
  4. Human Rights, Labour and Fair Business Practices (สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมของแรงงาน) ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน มีการกำหนดให้อาสาสมัครในการแข่งขันกว่า 80,000 คนมีสัดส่วนเพศชายและหญิงอยู่ที่ 40:60 และช่วงอายุของอาสาสมัครมีตั้งแต่ 10 – 80 ปี เป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกช่วงวัยมีส่วนร่วมกับงานครั้งนี้
  5. Involvement, Cooperation and Communications (สร้างความร่วมมือ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย)

Tokyo Olympic 2020 | be better together digimusketeers
อย่างไรก็ตาม โอลิมปิกและพาราลิมปิกเป็นการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ที่รวมคนจำนวนมากเข้าด้วย การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการจัดกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ก่อนจัดงาน ญี่ปุ่นจึงใช้โอกาสนี้นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับวัสดุสิ่งของภายในงานมากมาย DigiMusketeers จะเล่าให้ฟังว่าญี่ปุ่นมีวิธีจัดการอย่างไร

เหรียญรางวัลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์


กว่า 5,000 เหรียญที่เจ้าภาพมอบให้นักกีฬาในโตเกียว 2020 นั้นทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งเหรียญทอง เงิน และทองแดง ซึ่งมีปริมาณรวม 78,985 ตัน มาจากหน่วยงานท้องถิ่น 1,621 แห่ง และการบริจาคโทรศัพท์มือถือเก่าจำนวน 6.21 ล้านเครื่องทั่วประเทศ ใช้เวลารวบรวมกว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2017 – 2019 เมื่อนำมารีไซเคิลได้ทองราว 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างเหรียญรางวัลโอลิมปิก

แท่นรับรางวัลทำจากขยะพลาสติก 24.5 ตัน

สำหรับโอลิมปิก 2020 มีแท่นรับรางวัลทั้งสิ้น 98 แท่น เป็นผลงานการออกแบบของ Tokolo Asao ศิลปินและนักออกแบบชาวญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ Tokyo 2020 ความพิเศษของแท่นรับรางวัลอยู่ที่วัสดุในการสร้าง มาจากขวดและบรรจุภัณฑ์พลาสติกกว่า 24.5 ตัด ซึ่งใช้เวลารวบรวมกว่า 9 เดือน ผ่านกล่องรับบริจาคที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้ากว่า 2,000 แห่งและโรงเรียนทั่วประเทศ
tokyo2020 podium | Digimusketeers
แท่นรับรางวัลนี้ผลิตโดยการใช้เทคโนโลยี 3D จึงสามารถสร้างลวดลายได้ละเอียด ตัวแท่นเกิดจากการนำลูกบาศก์มาเรียงต่อกัน โดยแต่ละลูกจะรับน้ำหนักได้ 1.5 กิโลกรัม สื่อถึงความสามัคคี ที่เมื่ออยู่รวมกันแล้วจะแข็งแกร่ง ทั้งนี้ แท่นรับรางวัลถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้โลกเห็นถึงแนวทางต่างๆ ในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน และทำให้ประชากรญี่ปุ่นทั้งหมดมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างแท่นรับรางวัลประจำโอลิมปิกเกมครั้งนี้เช่นเดียวกับการบริจาคโทรศัพท์มือถือเพื่อสร้างเหรียญรางวัลข้างต้น

สนามแข่งขันที่ใช้การ Reuse และ Recycle

Oi Hockey Stadium เป็นหนึ่งในสนามที่ใช้แข่งขันกีฬาฮอกกี้ ความพิเศษของสนามนี้อยู่ที่การใช้หญ้าเทียมที่ทำจากวัสดุชีวภาพ เส้นใยของอ้อยที่เหลือจากการเกษตร ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำน้อยลงถึง 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับประมาณการใช้น้ำของสนามนี้ช่วงโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีสนาม Musashino Forest Sports Plaza ที่เป็นสนามสำหรับแข่งกีฬาฟันดาบและแบดมินตัน ก็ยังสร้างขึ้นจากคอนกรีตมวลรวมรีไซเคิล เพื่อลดปริมาณเศษวัสดุคอนกรีตจากการก่อสร้าง รวมถึงการใช้เหล็ก กระเบื้อง และพื้นไวนิลรีไซเคิล
ไม่ใช่แค่ 2 สนามนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีก 5 สนามที่ใช้วัสดุรีไซเคิล ได้แก่ Ariake Arena, Sea Forest Waterway, Tokyo Aquatics Centre,

คบเพลิงโอลิมปิก เปลี่ยนภัยพิบัติเป็นความหวังของชาวญี่ปุ่น

tokyo olympic คบเพลิง | Digimusketeers
อีกหนึ่งไฮไลท์ของพิธีเปิดการแข่งขันคือ คบเพลิง ที่ออกแบบภายใต้คอนเซปต์ “Hope Light Our Way” เปลวไฟที่ลุกโชนบนเส้นทางแห่งความหวัง ที่วิ่งผ่านไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ของญี่ปุ่น ทางเจ้าภาพยังได้แรงบันดาลใจจากดอกซากุระในการดีไซน์ และกว่า 30% ของคบเพลิงผลิตจากอะลูมิเนียมรีไซเคิลที่เคยใช้สร้างที่พักชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ซึ่งเป็นอะลูมิเนียมรีไซเคิลเกรดเดียวกับที่ใช้ในรถไฟชินคันเซน
นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกของการแข่งขันโอลิมปิกที่มีการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในการจุดคบเพลิง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารประกอบคาร์บอนซึ่งก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก

ชุดวิ่งคบเพลิง-ชุดนักกีฬา

การวิ่งคบเพลิงใช้เวลาทั้งหมด 121 วัน โดยมีนักวิ่ง 10,000 คนจากทุกภาคส่วนของสังคม ในส่วนของชุดนักวิ่งคบเพลิงและชุดนักกีฬาส่วนหนึ่งทำมาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกที่รวบรวมโดย Coca-Cola เพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นชุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด

เตียงกระดาษในหมู่บ้านนักกีฬา

อย่างที่กล่าวมาตลอดว่าทางเจ้าภาพญี่ปุ่นเน้นย้ำเรื่องการรักษ์โลก วัสดุที่เลือกใช้จึงต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เว้นแม้แต่เตียงนอนในหมู่บ้านนักกีฬา ที่ทำมาจากกล่องกระดาษรีไซเคิล สามารถนำไปใช้ซ้ำ แปรรูป หรือรีไซเคิลได้หลังจบการแข่งขัน

tokyo2020 เตียงนักกีฬา
ภาพจาก https://apnews.com/

เน้นใช้พลังงานหมุนเวียน

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้เป็นโอลิมปิกที่ปราศจากการปล่อยคาร์บอน ไฟฟ้าที่ใช้ในสถานที่ต่างๆ จึงเป็นพลังงานหมุนเวียน 100% ทั้งในหมู่บ้านนักกีฬา ศูนย์กระจายเสียงระหว่างประเทศ ศูนย์ข่าวหลัก และยังมีการติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียนในหลายจุด เช่น สนามกีฬา ศูนย์กีฬาทางน้ำโตเกียวที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการทำระบบความเย็น และความร้อน
แม้ Covid-19 จะทำพิษให้ญี่ปุ่นต้องเลื่อนการจัดแข่งขันมาหลายครั้ง แต่ก็นับว่าการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ ญี่ปุ่นทำได้ดีสมกับที่ทั่วโลกรอคอย โดยเฉพาะเรื่องการตั้งเป้าว่าจะเป็นโอลิมปิกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ที่สามารถออกแบบทุกส่วน ทุกโครงสร้างได้อย่างน่าสนใจ
รูปภาพโดย ©Tokyo 2020

Source

https://olympics.com/tokyo-2020/en/paralympics/news/key-sustainability-projects-para
https://www.sdgmove.com/2021/07/25/sdg-recommends-sustainability-report-tokyo-olympic-2020/
https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/sustainability/reporthttps://www.sdgmove.com/2021/07/25/sdg-recommends-sustainability-report-tokyo-olympic-2020/

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก