เอ๊ะ! ทำไมพักหลัง ๆ ถึงรู้สึกว่าหน้าฟีด Instagram ไม่เรียงตามลำดับเวลานะ ใครที่สงสัยแบบเดียวกันนี้ ดิฉันจะบอกว่าคุณไม่ได้คิดไปเองคนเดียวหรอกค่ะ มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ และวันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเรื่องนี้และเรียนรู้เกี่ยวกับ Instagram Algorithm ไปด้วยกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมของอินสตาแกรมในปี 2021 นั้นจะส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจที่ใช้อินสตาแกรมเป็นช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างแน่นอน
Instagram Algorithm คืออะไร
Instagram คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านบัญชี จึงไม่แปลกที่แบรนด์ต่าง ๆ ต้องต่อสู้ฟันฝ่าอย่างหนักเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มนี้ และเมื่อไม่นานมานี้ทางอินสตาแกรมออกมาเปิดเผยว่าพวกเขายกเลิกการแสดงเนื้อหาบนฟีดตามลำดับเวลาไปเรียบร้อยแล้ว และทำการปรับปรุงการมองเห็นโพสต์ใหม่ให้ดีกว่าเดิมถึง 50% โดยนำแมชชีนเลิร์นนิ่งมาใช้ศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งานและปรับแต่งฟีดให้แสดงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของผู้ใช้แต่ละคนมากที่สุด นอกจากนี้ อัลกอริทึมใหม่ก็ยังมีประโยชน์กับธุรกิจที่ใช้อินสตาแกรมเป็นเครื่องมือในการทำตลาดไม่น้อยเลยหากตั้งใจทำความรู้จักกับมันและปรับกลยุทธ์ให้มีความสอดรับกับอัลกอริทึม ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่าว่า Instagram Algorithm ที่ควรต้องรู้มีอะไรบ้าง
6 Instagram Engagement Algorithms
ต่อไปนี้คือปัจจัยที่มีผลต่อการจัดเรียงเนื้อหาบนฟีดของอินสตาแกรม
#1 ความสนใจของผู้ใช้งาน
ในการพิจารณาจัดเรียงเนื้อหาบนฟีดนั้นอัลกอริทึมจะประเมินการโต้ตอบในอดีตว่าผู้ใช้งานเคยมีส่วนร่วมกับบัญชีไหนบ้าง ตลอดจนเนื้อหาประเภทไหนที่ผู้ใช้เข้าไปมีส่วนร่วมบ่อยที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานและเลือกคัดเอาเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานรายนั้น ๆ ขึ้นมาแสดงนั่นเอง ดังนั้น การมีส่วนร่วมหรือ Engagement ต่าง ๆ เช่น การเข้าไปกด Likes, Shares, Saves ดู Stories หรือแสดงความคิดเห็นบนโพสต์ ล้วนมีผลต่อการทำงานของ Algorithm และเนื้อหาที่แสดงบนหน้าฟีด
#2 ความเหมาะสมของช่วงเวลาที่มีการโพสต์
แม้อินสตาแกรมจะไม่ได้เรียงเนื้อหาตามลำดับเวลาแล้ว แต่เวลาก็ยังมีอิทธิพลอยู่และผู้ใช้งานอินสตาแกรมจะมีโอกาสมองเห็นคอนเทนต์ที่เพิ่งโพสต์ล่าสุดมากกว่าคอนเทนต์ที่ถูกโพสต์ไว้เมื่อสามวันก่อน เนื่องจากอัลกอริทึมมองว่าเนื้อหาที่เพิ่งโพสต์ใหม่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับเวลาที่เข้ามารับชมในขณะนั้นมากกว่า ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่อยากให้โพสต์ตกหล่นธุรกิจก็ต้องไปศึกษาให้ดีว่าลูกค้าของตนเข้ามาเล่นอินสตาแกรมช่วงเวลาไหนมากที่สุดแล้วเลือกโพสต์ในช่วงนั้น
#3 ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานทั้งสองฝ่าย
อัลกอริทึมมองว่าโพสต์จากเพื่อนและครอบครัวมีความสำคัญมากกว่า และผู้ใช้งานควรได้เห็นโพสต์เหล่านี้ นอกจากนี้บัญชีที่ผู้ใช้เข้าไปมีส่วนร่วมบ่อย ๆ เคยไปเสิร์ชหา หรือส่งข้อความ DM ก็มีความสำคัญต่อผู้ใช้ไม่น้อย และเนื้อหาจากบัญชีกลุ่มนี้จึงมักจะถูกนำมาแสดงให้เห็นเช่นกัน ดังนั้น หากธุรกิจสามารถกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับบัญชีของตนได้มากขึ้น โอกาสที่คอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาจะถูกมองเห็นก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย
#4 ความถี่ในการเข้าใช้งานแอปฯ
อินสตาแกรมพยายามค้นหาโพสต์ที่ดีที่สุดมานำเสนอก่อน โดยเลือกย้อนหลังไปตั้งแต่ระยะเวลาที่ผู้ใช้งานเข้ามาในแอปฯ ครั้งหลังสุด คนที่เข้าอินสตาแกรมวันละครั้งก็อาจได้เห็นโพสต์ที่อัลกอริทึมคิดว่ามีความเกี่ยวข้องมากที่สุดของวันนั้น แต่ถ้าผู้ใช้งานเป็นพวกเข้าแอปฯ ทุกชั่วโมง อัลกอริทึมก็จะไปเลือกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องที่สุดที่ผู้ใช้ยังไม่เคยเห็นมาก่อนขึ้นมาแสดง ถ้ามองในแง่นี้แล้วแบรนด์ที่โพสต์บ่อยกว่าก็อาจมีโอกาสถูกพบเห็นมากกว่า
#5 ระยะเวลาในการใช้งาน
เซสชั่นในการเข้าชม หรือระยะเวลาที่ผู้ใช้อยู่ในอินสตาแกรมก็มีผลกับอัลกอริทึม เช่น ถ้าลูกค้าของคุณมักใช้เวลาอยู่ในอินสตาแกรมนาน พวกเขาก็จะยิ่งมีโอกาสได้เห็นทุกเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้อง แต่สำหรับผู้ที่เข้ามาเป็นเวลาสั้น ๆ ระบบก็จะเลือกเอาโพสต์ที่เกี่ยวข้องมากที่สุดขึ้นมาแสดงก่อน
#6 จำนวนบัญชีที่มีการติดตาม
ผู้ใช้ที่ติดตามบัญชีอินสตาแกรม 1,000+ บัญชีจะมีโอกาสเห็นคอนเทนต์ที่แต่ละบัญชีโพสต์ได้น้อยกว่าผู้ใช้ที่ติดตามอยู่แค่ไม่กี่สิบบัญชี เพราะว่ามีตัวเลือกให้อินสตาแกรมต้องคัดสรรเยอะกว่า แต่การห้ามไม่ให้ลูกค้าติดตามคนอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ เราจึงต้องหาแนวทางอื่นมาช่วยเสริมโอกาสในการมองเห็นแทน
4 วิธีเอาชนะ Instagram Algorithm เพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็นให้กับแบรนด์
#1 ใช้ฟีเจอร์ออกใหม่
อินสตาแกรมไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาประเภทใดประเภทหนึ่งมากเป็นพิเศษ แต่กลับมุ่งพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ออกมาให้ใช้เรื่อย ๆ ดังนั้นการใช้งานฟีเจอร์เหล่านี้จึงมักให้ผลตอบลัพธ์ที่ดีกว่า และ Reels คือหนึ่งในฟีเจอร์ที่น่าสนใจ เพราะธุรกิจสามารถนำมาใช้สร้างวิดีโอสั้น ๆ เพื่อโปรโมตบริการหรือมอบความบันเทิงให้กับลูกค้าได้
#2 ใช้เนื้อหาที่หลากหลาย
แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดบน Instagram มักทำเนื้อหาออกมาดักไว้ทุกทาง โดยมีคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาลักษณะเดียวกันทั้งแบบที่เป็นโพสต์ภาพเดียว Stories วิดีโอ IGTV และโพสต์แบบ Carousel เพื่อให้อัลกอริทึมนำไปเลือกเสนอให้สอดคล้องกับความชอบของผู้ใช้แต่ละราย
#3 โพสต์อย่างสม่ำเสมอในจำนวนและเวลาที่เหมาะสม
เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 อินสตาแกรมเปิดเผยว่าจำนวนที่เหมาะสมคือ 2 โพสต์ต่อสัปดาห์และ 2 Stories ต่อวัน ส่วนเวลาในการโพสต์นั้นให้ศึกษาเอาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นหลัก ถ้าคุณใช้บัญชีสำหรับธุรกิจอยู่แล้วสามารถเข้าไปดูข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชั่วโมงที่ผู้ติดตามของคุณมีความเคลื่อนไหวมากที่สุดได้จากแท็บ Audience ในโปรไฟล์ของคุณ และสุดท้ายห้ามลืมว่าต้องมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอในการโพสต์ด้วย
#4 กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม
ข้อนี้น่าจะโดนใจ Instagram Algorithm มากที่สุดแล้ว เพราะอินสตาแกรมชอบเนื้อหาที่สร้างการมีส่วนร่วมได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแคปชั่นให้ดึงดูด ใช้คำที่กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจ (CTA) ตั้งคำถามที่ชวนให้คนอยากแสดงความคิดเห็น เพิ่มความสนุกสนานให้กับ Stories ด้วยการใช้สติ๊กเกอร์ สร้างโพล หรือวิธีไหนก็ได้ที่ทำแล้วคนอยากเข้ามามีส่วนร่วมให้งัดออกมาใช้ให้หมด
ข้อมูลจาก
https://blog.hootsuite.com/instagram-algorithm/
https://later.com/blog/how-instagram-algorithm-works
https://blog.travelpayouts.com/en/how-to-use-the-instagram-algorithm/