Outbound Links Strategy : ทำเพื่ออะไร และใช้งานอย่างไร

Digimusketeers, 15 December 2021

Backlinks หรือ Inbound links เป็นคำที่คุ้นหูคนส่วนใหญ่ดีอยู่แล้ว เพราะการที่มีลิงก์จากภายนอกเว็บไซต์ (จากเว็บอื่น) เข้ามายังเว็บเพจของเรานั้น เปรียบเสมือน “อาวุธลับ” ที่คนทำเว็บและคนทำ SEO ทุกคนอยากได้ แต่ในบทความนี้เราจะไม่ขอพูดถึง Inbound links มากนัก เพราะประสิทธิภาพในการดันอันดับ SEO ของมันเป็นที่รู้กันมานานแล้ว แต่เราจะมามองหาเหตุผลที่ควรทำ Outbound links กัน ว่าทำไมคนเขียนบทความหรือคนทำเว็บไซต์ควรต้องทำ Outbound links พาคนอ่านออกไปที่เว็บไซต์ของคนอื่น เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหนการพาคนออกจากเว็บไซต์ก็ดูจะไม่ใช่แนวคิดที่ดีนัก

ถ้าไปค้นเรื่องนี้บนกูเกิลเมื่อหลายปีก่อน คำตอบที่คุณหาเจอก็จะบอกเหมือนกันหมดว่า Outbound links คือสิ่งต้องห้าม เพราะเคยเชื่อกันว่าการมีลิงก์ออกไปนอกเว็บจะกระทบกับคะแนนความสำคัญของเว็บไซต์ (PageRank หรือค่า PR) ซึ่งมีผลต่อการจัดอันดับของ Google และถ้าจำเป็นต้องใส่ลิงก์ประเภทนี้จริง ๆ ก็ต้องมีการใส่แท็ก “nofollow” ไว้ใน HTML links ด้วยเพื่อที่ Google bots จะได้ไม่ติดตามผลไปที่ลิงก์ปลายทาง

ใครที่เคยเชื่อและทำตามนี้มาก่อน โปรดอ่านให้จบ เพราะเราไปค้นมาให้แล้วว่าในปัจจุบันคุณไม่ต้องลังเลว่าควรหรือไม่ควรใส่ Outbound links อีกต่อไป เนื่องจากตอนนี้มีทฤษฎีใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ Outbound links ไม่น้อยไปกว่า Inbound links แล้ว โดยเว็บไซต์จากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น Search Engine Journal (SEJ), Semrush หรือ Five Channels ได้มีการตีพิมพ์เรื่องนี้กันยาวเหยียด ซึ่งเราสามารถสรุปรวมกันคร่าว ๆ ได้ดังนี้ (คลิกไปอ่านข้อมูลฉบับเต็มกันได้ที่ลิงก์ด้านบนและท้ายบทความ)

เหตุผลที่ควรทำ Outbound links

#1 Outbound links ช่วยเพิ่มความเกี่ยวข้องของเว็บไซต์ในมุมมองของอัลกอลิทึมของกูเกิล

การมีลิงก์ออกไปยังเว็บไซต์ภายนอกก็เหมือนกับเป็นการบอกใบ้ให้อัลกอริทึมของเสิร์ชเอนจิ้นทราบอีกทางหนึ่งว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ คุณมีความสนใจเกี่ยวกับอะไร เพื่อที่ระบบจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลผลและเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องระหว่างเนื้อหาบนเว็บไซต์กับสิ่งที่ผู้คนกำลังค้นหา ซึ่งถ้ากูเกิลมองว่าเนื้อหาของคุณเกี่ยวข้องและดีจริง เว็บไซต์ของคุณก็จะถูกส่งไปอยู่ในอันดับที่ดีบนหน้าผลการค้นหา

#2 Outbound links ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้อ่าน

การทำลิงก์ออกไปยังเว็บไซต์อื่นที่มีความน่าเชื่อถือนอกจากจะเป็นการบอกกับกูเกิลว่าคุณให้ความสำคัญกับหัวข้อนี้อย่างจริงจังแล้ว ยังจะช่วยให้ผู้ที่มาอ่านบทความในเว็บไซต์ของคุณได้รับความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพวกเขาอาจจะกำลังให้ความสนใจอยากรู้อยู่ก็ได้ เพราะบางทีคุณเองอาจจะไม่มีเวลาเขียน หรือไม่มีพื้นที่มากพอที่จะพูดถึงรายละเอียดต่าง ๆ ได้ครบถ้วนทั้งหมดในบทความเดียว

#3 Outbound links ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเนื้อหาในเว็บไซต์

การใส่ Outbound links เพื่อบอกถึงแหล่งที่มาของข้อมูลเป็นการให้เกียรติเจ้าของบทความต้นฉบับ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับงานเขียนทุกประเภท นอกจากนี้ การใส่ลิงก์ออกไปยังเว็บไซต์ต้นฉบับซึ่งเป็นที่มาของสถิติต่าง ๆ ที่คุณนำมาใช้ รวมถึงคำพูดหรือข้อความของบุคคลอื่นที่คุณหยิบยกมาใช้อ้างอิง ยังจะทำให้บทความของคุณมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในยุคที่มีเฟคนิวส์อยู่เต็มอินเทอร์เน็ตอย่างในทุกวันนี้

#4 Outbound links ช่วยทำให้ได้รับ Backlinks กลับมาที่เว็บไซต์

ไม่ว่าจะเป็นการผูกสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหรือการแลกเปลี่ยนลิงก์ ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ (มีมาตั้งแต่ก่อนกูเกิลจะเกิดเสียอีก) และยังคงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ เมื่อคุณใส่ลิงก์ไปยังเว็บไซต์อื่น ๆ นั่นหมายถึงว่าคุณสนับสนุนงานของพวกเขา พวกเขาก็จะรู้สึกดีและอาจจะตอบแทนด้วยการทำ Backlinks (Inbound links) กลับมายังเว็บไซต์ของคุณบ้างก็ได้

แนวทางในการทำ Outbound links

#1 อ้างอิงเฉพาะเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือและเกี่ยวข้อง

อันดับแรกนั้น คุณต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ที่จะลิงก์ไปหาก่อนเลย ต้องดูให้ดีว่าเป็นเว็บที่มีมาตรฐานเพียงพอ ไม่อย่างนั้นก็จะพาให้บทความของคุณดูไม่น่าไว้วางใจตามไปด้วย ทั้งในสายตาของคนอ่านและอัลกอริทึม อันดับที่สอง หน้าเว็บที่คุณลิงก์ไปนั้นควรมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคุณจริง ๆ อย่าเพียงแต่ลิงก์ไปเพื่อให้มีลิงก์ และถ้าคุณสามารถหาเว็บที่มีแนวโน้มที่จะส่ง Backlinks กลับมายังเว็บของคุณตอบแทนด้วยได้ก็จะยิ่งดี

#2 ใส่ลิงก์ในเนื้อหาส่วนที่เหมาะสม

เพื่อป้องกันไม่ให้สับสนและหลงลืม เวลาที่คุณหาข้อมูลก่อนเขียนงาน คุณควรจดบันทึกไปพร้อมเลยว่าข้อมูลนี้หรือตัวเลขเหล่านี้มาจากเว็บไหนบ้าง จากนั้นเมื่อมีการนำข้อมูลไปใช้จริงคุณก็จะสามารถใส่ลิงก์ระบุแหล่งที่มาได้ไม่ยาก ทีนี้นอกจากการใส่ลิงก์เมื่อมีการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็บไซต์อื่นมาใช้แล้ว คุณยังอาจพิจารณาทำลิงก์ไปยังหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เขียนเพิ่มเติมด้วยก็ได้ เช่น ถ้าคุณเขียนเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวบนดอยในภาคเหนือ การเพิ่มลิงก์ออกไปยังเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีเตรียมรถให้พร้อมก่อนขึ้นเขาเอาไว้ที่ท้ายบทความก็อาจจะเป็นประโยชน์กับคนอ่านหลายคนทีเดียว

#3 ใส่ลิงก์แบบเปิดแท็บใหม่

สำหรับผู้ที่ยังกลัวว่าการใส่ลิงก์ออกไปยังเว็บอื่นจะเป็นการเปิดประตูไล่แขกออกจากบ้าน แนะนำว่าควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าลิงก์ที่ใส่เป็นลิงก์แบบเปิดแท็บใหม่ เพื่อที่เว็บไซต์ของคุณจะได้ไม่หายไปจากบราวเซอร์ของผู้อ่าน

สรุปประเด็นน่าคิด

อินเทอร์เน็ตคือการเชื่อมต่อที่ซับซ้อน ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์จำนวนมหาศาลเข้าด้วยกันด้วยการใช้ลิงก์ และลิงก์หนึ่งลิงก์นั้นจะทำหน้าที่ทั้ง Inbound และ Outbound ในคราวเดียวกัน คือลิงก์ที่ออกจากเว็บหนึ่งก็คือลิงก์ที่ไปเข้าอีกเว็บหนึ่ง ดังนั้นของแบบนี้มันก็ต้องมีทั้งออกและเข้าสลับกันไป จะมีแต่ลิงก์เข้าอย่างเดียวมันก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ###

===================
ข้อมูลจาก
https://www.searchenginejournal.com/outbound-links-strategy/426833/
https://www.semrush.com/blog/outbound-links/
https://fivechannels.com/your-guide-to-outbound-links-and-how-they-affect-seo/

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก