ลาพักร้อน

ลาพักร้อน มีให้ใช้แต่ไม่ค่อยกล้าใช้ ค่านิยมแปลกแต่มีอยู่จริง

Digimusketeers, 29 July 2022

เคยเป็นกันหรือเปล่า?…วันลาพักร้อนเหลือเพียบ เพราะไม่ค่อยกล้าใช้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ไม่ว่าจะเกรงใจเพื่อนร่วมงาน เกรงใจหัวหน้า หรือต้องหาสารพัดเหตุผลมาแจ้งหัวหน้าว่าลาพักร้อนไปไหน ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องบอก เป็นค่านิยมของคนทำงานที่แปลกแต่ก็มีอยู่จริงบนโลก 

วันลาพักร้อนที่มีต่อปีก็น้อยอยู่แล้ว ตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิสำหรับคนทำงานของประเทศไทยสามารถลาพักร้อนได้ขั้นต่ำเพียง 6 วัน/ปี (เฉพาะพนักงานที่ทำงานเกิน 1 ปี) และสามารถสะสมในปีอื่นได้ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 (แล้วแต่ที่องค์กรกำหนดอีกทีว่าสะสมได้หรือไม่) ลองเอาไปเปรียบกับประเทศอื่นกันดูบ้าง

ข้อมูลจาก OECD แบ่งเป็นกลุ่มตามวันไว้ 6 กลุ่มดังนี้ (วันลาขั้นต่ำนะ)

1. กลุ่ม 22-25 วัน > ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สวีเดน ลักเซมเบิร์ก โปรตุเกส 

2. กลุ่ม 18-20 วัน > สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี เบลเยียม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กัมพูชา

3. กลุ่ม 12-15 วัน > โคลอมเบีย ชิลี เกาหลีใต้ เวียดนาม

4. กลุ่ม 7-10 วัน > แคนาดา ญี่ปุ่น สิงค์โปร์

5. กลุ่ม 5-6 วัน > จีน เม็กซิโก ไทย

6. ไม่กำหนดจำนวนวันลาขั้นต่ำ > สหรัฐอเมริกา

*ในอาเซียนกัมพูชามีวันลาพักร้อนขั้นต่ำ 18 วัน ถือว่าเยอะสุดในภูมิภาค ส่วนฟิลิปปินส์วันลาพักร้อนขั้นต่ำ 5 วัน น้อยใกล้เคียงกับไทยเลย

 

ลาพักร้อนที่ไม่กล้าใช้

ลาพักร้อนที่ไม่กล้าใช้

  • ผลสำรวจของ The USTA พบว่า คนทำงานกว่า 35% ไม่กล้าลาพักร้อน เพราะกลัวว่าถ้าหยุดไปแล้วจะไม่มีคนทำแทน และกว่า 40% ยอมทิ้งวันหยุดที่ลาพักร้อนไว้ เพราะยังมีกังวลเรื่องงานเมื่อต้องกลับเข้าออฟฟิศ
  • ผลสำรวจ U.S. Travel Association บอกว่า 40% ของคนทำงาน มักจะใช้วันลาพักร้อนของตัวเองไม่เคยหมด รวมแล้วกว่า 430 ล้านวันลาพักร้อนที่ถูกเปลี่ยนเป็นเงินแทนในแต่ละปี
  • เผยผลสำรวจจาก Skyscanner พนักงานในแคนาดากว่า 96% รู้ว่าวันลาพักร้อนนั้นมีคุณค่า แต่มีเพียง 66% เท่านั้นที่ใช้สิทธิ์ลาพักร้อน
  • ผลสำรวจจาก U.S Travel Association ปี 2018 พบว่าพนักงานในสหรัฐอเมริกา กว่า 52% มีวันลาพักร้อนที่ไม่ได้ใช้เหลืออยู่ในช่วงสิ้นปี
  • ค่านิยมไม่ลาคือพนักงานดีเด่น บางองค์กรก็มักปลูกฝังค่านิยมแปลก ๆ แบบนี้เข้าไปในหัวพนักงาน จากงานวิจัยของบริษัทซอฟต์แวร์ Kimble Applications บอกว่า 14% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการไม่ใช้สิทธิ์ลาพักร้อนเลยจะช่วยให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้น
  • ลาพักร้อนยาวหลายวันเพื่อนร่วมงานมองบน Vacation-Shaming ที่โดนกันบ่อยในหลาย ๆ องค์กร เวลาขอลายาว ๆ แล้วเพื่อนร่วมงานมักมองบน หรือรวมกลุ่มกันนินทา พูดจาทำร้ายจิตใจ อันนี้สังคมในที่ทำงานแย่มาก 
  • ลาพักร้อนแต่ทำงานนะ…คนไทยกว่า 74% พร้อมที่จะแคนวันลาเพื่องาน และอีก 24% เช็กอีเมลเรื่องงานอย่างต่ำวันละ 2 ครั้งในช่วงลาพักร้อนด้วย 

ผลสำรวจเหล่านี้ตอบให้เราเห็นแล้วว่าคนทำงานทั่วโลกนั้นใช้สิทธิ์วันลาพักร้อนได้ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ด้วยเหตุมากมาย 

 

ไทยติดอันดับ 7 ใน 19 ประเทศที่ลาพักร้อนน้อยที่สุด

ไทยติดอันดับ 7 ใน 19 ประเทศที่ลาพักร้อนน้อยที่สุด

ผลสำรวจของ 18th Annual Vacation Deprivation Study เกี่ยวกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ไม่ยอมลาพักร้อน และสาเหตุที่ไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริงใน 19 ประเทศทั่วโลก ปี 2561 เผยว่ามีนักท่องเที่ยววัยทำงานไม่ยอมลาพักร้อนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยของเราอยู่ที่อันดับ 7 เลยทีเดียว มีสัดส่วนทั้งหมด 62% อันดับหนึ่งเป็นของอินเดีย มีสัดส่วน 75% อันดับสองเกาหลีใต้ สัดส่วน 72% อันดับสามฮ่องกง สัดส่วน 69% อันดับสี่มาเลเซีย สัดส่วน 67% อันดับห้าฝรั่งเศา สัดส่วน 64% และอันดับหกสิงค์โปร สัดส่วน 63%

แม้วันลาพักร้อนนั้นควรจะถูกใช้สำหรับพักผ่อนหรือคลายเครียด แต่มันกลับถูกใช้ไปกับการทำทุระต่าง ๆ แทน พบสถิติสูงถึง 67% คิดเป็น 2 ใน 3 ของแรงงานทั่วโลก พบว่าในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาอย่าง อินเดีย ไทย หรือบราซิล

 

เหตุผลที่คนควรใช้วันลาพักร้อน

เหตุผลที่คนควรใช้วันลาพักร้อน

เสี่ยง Burnout

งานศึกษาจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สาเหตุเชิงแรงจูงใจและความรู้สึกเบื่องาน เป็นสภาวะที่คนมีแนวโน้มในการทำงานหนักเกินจำเป็นจนอาจเสี่ยงเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout ซึ่งภาวะนี้ WHO องค์กรอนามัยโลกลงมติพิจารณาให้เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์อีกด้วย โดยระบุว่า ภาวะหมดไฟ เป็นอาการความผิดปกติที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในการทำงานที่ไม่ได้รับการรักษาให้หาย อาการจะรู้สึกเหนื่อยล้า สูญเสียพลังงาน อ่อนเพลีย รู้สึกไม่อยากทำงานไปจนถึงมีทัศนคติเชิงลบต่อการทำงาน รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

ถ้าโหมทำงานหนักทุกวัน ไม่ยอมใช้สิทธิ์ลาพักร้อนออกไปพักผ่อน ไม่หาเวลาให้ตัวเองออกไปพักใจบ้าง ระหว่างภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout จะถามหาสักวันนะ

ช่วยให้ทำงานโฟลว์ขึ้น

มีงานศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสารพบว่าการใช้วันลาพักร้อนจะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น ลดความเหนื่อยล้า ลดความรู้สึก Burnout ได้ดี เหมือนได้เติมพลัง เติมไฟในการทำงาน กลับมาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น งานก็โฟลว์ขึ้นนั่นเอง 

บรรเทาความเครียดในชีวิต

American Psychological Association บอกว่าวันหยุดสามารถช่วยลดความเครียดได้จริง เพราะมันเหมือนกับการที่เราย้ายตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมเดิม ๆ อย่างบรรยากาศในออฟฟิศที่เรามานั่งทำงานทุกวัน และยังช่วยเพิ่มความโปรดักทีฟได้อย่างน้อย 8% ต่อการใช้วันหยุด 10 ชั่วโมง 

ยิ่งได้ใช้วันลาพักร้อนหยุดยาว ก็ยิ่งดีต่อใจ มีผลวิจัยบอกว่าความรู้สึกผ่อนคลายที่เกิดจากการได้หยุดพักร้อนจะสูงสุดในวันที่ 8 ของการพักร้อนนะ และความผ่อนคลายนั้นจะอยู่ไปอีกหลายอาทิตย์หลังจากที่เรากลับมาใช้ชีวิตปกติแล้วด้วย 

 

ทริคใช้วันลาพักร้อน

ทริคใช้วันลาพักร้อนให้คุ้มค่าและสบายใจ

เคลียร์งานให้หมด

เป็นทริคที่ช่วยป้องกันให้งานมาระหว่างช่วงลาพักร้อนที่ได้ดี นั่นก็คือตัดไฟตั้งแต่ต้นลมนั่นเอง เมื่อได้วันลาที่แน่นอนแล้ว คุณควรรีบเคลียร์งานให้หมด ล่วงหน้าได้ก็ยิ่งดี เพื่อให้ไม่มีปัญหาทีหลัง โดนตามงานตอนวันลาเป็นใครจะไม่เซ็งใช่ไหมล่ะ

เช็กวันให้ดี

ข้อนี้สำคัญเลยคือการเช็กวันลาพักร้อนให้เหมาะสม เช็กให้ดี ตามกฎของบริษัทตัวเองหรือเปล่า เช่น ไปลาซ้ำกับเพื่อนตำแหน่งเดียวกัน ลายาวเกินวันที่องค์กรกำหนดไว้ หรือต้องแจ้งลาพักร้อนล่วงหน้ากี่วัน 

ทิ้งช่องทางให้ติดต่อได้สัก 1 ช่องทาง

เผื่อเอาไว้ในกรณีที่ฉุกเฉินจริง ๆ แม้จะลาพักร้อนก็ควรให้ช่องทางติดต่อสัก 1 ช่องทาง และแจ้งล่วงหน้าว่าช่องทางนี้เราไม่ตอบนะ แต่ก็ไม่ใช่แจ้งไปว่าติดต่อได้ตลอดเวลา ทุกช่องทาง แบบนั้นวันลาพักร้อนของคุณจะหมดสนุกอย่างแน่นอน

 

เห็นแบบนี้แล้ว อย่ามองข้ามวันลาพักร้อนเด็ดขาดนะ มีก็ใช้ให้คุ้ม อย่าละเลย พาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ผ่อนคลายบ้าง เครียดไปก็ทำร้ายตัวเองนะทุกคน

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก