ส่องเทรนด์โลจิสติกส์ไทยปี 2022 จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

Digimusketeers, 17 March 2022

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบไปยังธุรกิจแทบจะทุกสายงาน ถ้าพูดถึงธรุกิจโลจิสติกส์ก็ถือว่าโดนไปเต็ม ๆ เหมือนกัน เพราะมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ระบบการขนส่งสินค้าช้าลงมาก พัสดุตกค้างในคลังขนส่งบ้าง ของไปไม่ถึงผู้รับจนเกิดกระแสดราม่ามากมาย เคสที่หนักที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการปิดตัวลงของธุรกิจ

จากบทเรียนที่ผ่านมา แน่นอนว่าตลาดโลจิสติกส์มีตัวอย่างให้เห็นกันแล้ว จึงต้องพยายามปรับตัวและหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ให้ได้ ซึ่งไม่ใช่การขนส่วพัสดุให้ไปถึงมือเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ไปดูกันว่าเทรนด์ในปี 2022 นี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ข้อมูลจากคุณโมชิ นักธุรกิจ บริษัท Startup สายโลจิสติกส์ไทย ‘Shippop.com’ 

 

เทรนด์โลจิสติกส์ไทย 2022 ที่จะมาแน่นอน

 

งัดกลยุทธ์เด็ดมาท้าชนเพื่อแย่งลูกค้า

หลังจากเจอศึกหนักมา ตลาดโลจิสติกส์ก็เริ่มงัดกลยุทธ์เด็ด ๆ มาเพื่อแย่งชิงลูกค้ากันมากขึ้น หวังว่าจะดึงลูกค้าเดิม พร้อมกับเพิ่มลูกค้าไว้ให้ได้มากที่สุด เช่น การดึงดาราดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์อย่าง J&T ก็เป็นหนุ่มมาริโอ้ เมาเร่อ, Kerry ก็เอาหนุ่มเวียร์ ศุกลวัฒน์, Best Express ก็จับหนุ่มณเดชน์ คูกิมิยะ หรือ Flash Express ไปคว้าเอาพระเอกหนุ่มในตำนานอย่างคุณติ๊ก เจษฎาพร เป็นต้น

หรือจะเป็นบริการใหม่มากมายที่บรรดาธุรกิจโลจิสติกส์นั้นขนมาเสิร์ฟลูกค้า เช่น 

 – Flash Express ที่เพิ่มบริการรับส่งพัสดุไซซ์ใหญ่และบริการการันตีจัดส่งภายใน 2 วันช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 – Kerry Express จับมือกับเซ็นทรัล รีเทล เพิ่มบริการส่งด่วน ‘Kerry XL’ สำหรับสินค้าขนาดใหญ่

รวมถึงการจัดโปรโมชันลดกันกระหน่ำทั้ง จัดส่งวันนี้ลดราคาทันที, ส่งพัสดุน้ำหนักไม่เกินเท่านี้ราคาพิเศษ เป็นต้น เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่มีผลกับกลุ่มเป้าหมายที่สุดก็คือราคาค่าส่ง ตลาดโลจิสติกส์จึงมีการแข่งขันด้านราคากันสูง ยอมทุ่มเงินมหาศาลเพื่อลดราคาค่าขนส่งพัสดุเพื่อหาทางให้ธุรกิจตัวเองไปรอดในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงแบบนี้ ใครก็ไม่ไหวก็ต้องแพ้ไปเป็นธรรมดาอย่าง Alpha Fast ที่ได้ประกาศปิดกิจการไปแล้ว นั่นเอง

เริ่มเข้ามาลุยเป็น Fulfillment มากขึ้น

ปกติแล้วในไทยจะมีบริษัทที่เปิดให้บริการแบบ Fulfillment (บริการคลังเก็บของ – แพ็คของ – ส่งต่อพัสดุ) เป็นตัวกลางการเชื่อมต่อระหว่างบริษัทโลจิสติกส์กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีมาก ๆ ด้วย ทำให้หลายบริษัทโลจิสติกส์ใหญ่เล็งเห็นโอกาสได้เปรียบนี้ และเริ่มทยอยเข้ามาลุยให้บริการเป็น Fulfillment เองหลายเจ้าเลย เช่น Flash Fulfilment, THP Fulfillment หรือ JWD Fulfillment 

ซึ่งการที่บริษัทขนส่งเจ้าใหญ่ ๆ เริ่มเปิดบริการนี้เองเพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น สามารถเก็บข้อมูลของลูกค้าได้ ขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น เจาะกลุ่มคนขายของออนไลน์ได้ดีขึ้น และเป็นบริการที่ครบวงจรช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องวุ่นวาย นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมค่าส่งได้เองในกรณีที่กลุ่มเป้าหมายเลือกใช้บริการนี้จะคิดเรทค่าส่งที่ถูกลง เป็นต้น นี่จะเป็นผลกระทบคลื่นใหญ่กับเจ้าเก่าที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของราคาที่สูงกว่าและไม่แน่ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีการปิดตัวลงบ้างหากสู้กับเจ้าใหญ่ไม่ไหว

เดินหน้าสู่ตลาดต่างประเทศ

ปัจจุบันยังมีผู้บริโภคหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าจะติดต่อใคร ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างเมื่อต้องส่งพัสดุไปยังต่างประเทศจนทำให้พวกเขารู้สึกวุ่นวายและยุ่งยาก จึงตัดสินใจเลือกส่งผ่านบริษัทโลจิสติกส์ค่ายดังอย่าง DHL Express, Aramex หรือบริษัทที่เป็นตัวกลางจัดส่งพัสดุไปต่างประเทศโดยเฉพาะ เพราะลดขั้นตอนที่น่ารำคาญใจออกไป

เมื่อมีการขนส่งพัสดุไปยังตลาดประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บริษัทโลจิสติกส์เริ่มขยับขยายตลาดไปยังต่างประเทศกันบ้าง ซึ่งก็ถือเป็นข้อได้เปรียบมากขึ้นแน่นอน ถ้าคิดกลยุทธ์ดี ๆ อาจจะดึงลูกค้ากลับมา แถมอาจจะแย่งลูกค้าจากเจ้าเก่าที่เปิดบริการอยู่ด้วยก็ได้ เพราะผู้บริโภคบางคนที่เป็นลูกค้าเดิมและคุ้นชินกับแบรนด์ดีอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่ามีบริการขนส่งพัสดุไปต่างประเทศก็คงอยากจะมาใช้บริการเจ้าที่ตัวเองใช้อยู่แน่นอน ทั้งง่ายและสะดวกกว่า 

ตอนนี้ก็มีโลจิสติกส์เจ้าใหญ่เปิดให้บริการนี้เพิ่มมาด้วยนะ เช่น Best Express ที่ให้บริการขนส่งพัสดุจากไทยไปจีน มาเลเซีย และวางแผนจะขยายไปยังกัมพูชา เวียดนามและลาวอีกด้วย หรือ J&T Express ที่เปิดให้บริการส่งพัสดุจากไทยไปจีน อินโด มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร ฟิลิปปินส์และกัมพูชา

แฟรนไชส์รับฝากพัสดุผุดขึ้นมากมาย

นอกจากบริการการขนส่งพัสดุของบริษัทโลจิสติกส์ที่เป็นบริการยืนพื้นนั้น อาจจะต้องมีอีกหนึ่งบริการอย่างแฟรนไชส์รับฝากพัสดุเข้ามาช่วยความสะดวกสบายให้ลูกค้าด้วยจะช่วยดึงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้มาใช้บริการมากขึ้นอย่างแน่นอน  ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มากจากบริษัทโลจิสติกส์เองเท่านั้น มิหนำซ้ำบริการนี้ยังเติบโตไวกว่าธรุกิจโลจิสติกส์รับขนส่งพัสดุอีกด้วย จึงทำให้ตลาดโลจิสติกส์นั้นพยายามที่จะเข้ามาครอบครองบริการนี้ด้วยตัวเองให้ได้ จึงเริ่มหันมาทำธุรกิจแบบแฟรนไชส์ควบไปด้วย จึงทำให้มีทั้งแฟรนไชส์ที่มาจากบริษัทขนส่งเอง และบริษัทที่เป็นตัวกลางด้วย ผุดขึ้นมาเยอะแยะมากมายไปหมด

แฟรนไชส์ที่เห็นกันส่วนนั้นจะมีอยู่ 2 แบบก็คือ

 – Shop : บริการรับฝากพัสดุและทำรายการส่งของให้ลูกค้า มีรายได้มาจากส่วนต่างของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการจัดส่ง รวมถึงบริการเสริมอื่น ๆ แล้วแต่แบรนด์

 – Drop Point : จุดให้บริการรับ-ส่งพัสดุตามพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

ข้อดีของการที่บริษัทขนส่งเปิดกิจการรูปแบบนี้จะทำให้แบรนด์ขยายเข้าไปในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น จะช่วยเพิ่มฐานลูกค้า และสร้างการรับรู้ การจดจำให้กับผู้บริโภคอีกด้วย 

บริการรับส่งพัสดุควบคุมอุณหภูมิมาแน่

บริการที่ตลาดวงการโลจิสติกส์อาจจะมีเพิ่มเข้ามา และควรรีบมาเพื่อให้มาก่อนเจ้าอื่นก็คือบิรการการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ เพราะตอนนี้แค่ไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่มีบริการนี้อย่าง Inter Express หรือ SCG Express แน่นอนว่าการเปิดบริการนี้นั้นอาจมีข้อจำกัดต่าง ๆ เข้ามาเพิ่ม เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดส่ง หรือการจำกัดพื้นที่ ดังนั้นการหาพาร์ทเนอร์มาช่วยเสริมแรงก็ดูจะเป็นวิธีที่เวิร์กมากที่สุดในตอนนี้

นี่เป็นแนวโน้ม หรือเทรนด์โลจิสติกส์ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2022 นี้ ที่แบรนด์หรือนักการตลาดควรรู้ และอาจนำเอาไปปรับใช้เป็นกลยุทธ์ให้กับตัวเองได้

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก