Digital ID

Digital ID ก้าวสำคัญของวงการธุรกิจแห่งอนาคต

Digimusketeers, 27 September 2022

สิ่งมหัศจรรย์ที่เรียกว่าเทคโนโลยีนั้นทำให้การใช้ชีวิตของมนุษย์เราง่ายขึ้น ทำให้ใคร ๆ ก็ชอบมันนั่นเอง ไม่แปลกเลยที่ยุคนี้จะเรียกว่ายุคทองของเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญต่างก็คิดค้นเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ มามากมายเพื่อตอบสนองความต้องการคนยุคใหม่ ทำให้ภาคธุรกิจด้านต่าง ๆ ก็พากันนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจของตัวเองมากขึ้น และประยุกต์ให้ตรงใจกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อพาธุรกิจไปให้ถึงเป้าหมายของตัวเอง

วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ Digital ID หนึ่งในเทคโนโลยีสุดเจ๋งที่จะเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนวงการธุรกิจให้สูงขึ้นอีกขั้น และมันยังจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ไปไกลได้กว่าเดิมอีกด้วยนะ หลายคนรู้จักกันดี แต่ก็ยังมีอีกหลายคนใช้มันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่ได้รู้จักชื่อเรียกที่แท้จริงของเทคโนโลยีนี้ ไปดูคำตอบกันว่า Digital ID ดีอย่างไร ช่วยขับเคลื่อนวงการธุรกิจได้จริงหรือเปล่า ?

 

Digital ID คือ

Digital ID (Digital Identity) คืออะไร ? 

Digital ID มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า ‘Digital Identity’ คือเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมาช่วยเราลดกระบวนการ/ ขั้นตอน เรียกว่าช่วยทั้งประหยัดเวลาและทรัพยากรใน 1.การระบุตัวตน (Identification) การแสดงหลักฐานว่าผู้ใช้เป็นใคร และ 2. การพิสูจน์ตัวตน (Authentication) การตรวจสอบหลักฐานเพื่อแสดงว่าเป็นบุคคลที่เข้าใช้งานนั้นจริง ๆ นั่นเอง 

ยกตัวอย่างแบบเข้าใจง่าย ๆ 

 – การระบุตัวตน คือ ชื่อผู้ใช้ Username

 – การพิสูจน์ตัวตน คือ รหัสผ่าน Password

ซึ่งสิ่งที่เราใช้เป็นหลักฐานในการระบุตัวตนและพิสูจน์ตัวตนกันในปัจจุบันนี้ก็มีทั้ง ชื่อ-นามสกุล, บัตรประชาชน, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่สามารถเอาไปใช้ยืนยันตัวตนทางช่องทางดิจิทัลอย่าง สมัครเปิดบัญชีออนไลน์, สมัคร Mobile Banking, การเปิดใช้บริการ Wallet หรือแม้แต่การเปิดใช้บริการแอปฯ เป๋าตัง

องค์ประกอบ 4 ส่วนของ Digital ID

เป็น Digital ID ที่อ้างอิงจากมาตรฐาน NIST 800-63-3 Digital Identity Guideline สหรัฐอเมริกา

 – Entity : ผู้ขอใช้บริการพิสูจน์อัตลักษณ์อย่างประชาชนทั่วไป หรือนิติบุคคลที่ต้องการใช้บริการ

 – IdProvider : ผู้ให้บริการด้านการเข้าถึงข้อมูลที่จะบริหารข้อมูลในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแก่ผู้ใช้และ Relying Party

 – Authorising Source : หน่วยงานผู้เข้าถึงหรือเจ้าของข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลดิจิทัล เป็นผู้ยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูล เช่น กรมการปกครอง หรือสำนักงานเครดิตบูโร

 – Relying Party : ผู้ให้บริการที่ต้องการข้อมูลยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ เพื่ออนุมัติให้ผู้ใช้ได้รับบริการ

 

Digital ID ดีอย่างไร

Digital ID ดีอย่างไร ?

หลายประเทศที่ได้คิดค้น Digital ID เพื่อใช้งานกับประชาชนในประเทศโดยมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไปตามกฎที่กำหนดไว้ภายในประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ได้นำมาใช้ในบางบริการเช่นกัน และเรียกว่า ‘ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล’ 

ด้านผู้ใช้งาน

ประโยชน์ในฝั่งของผู้ใช้งานก็คือ Digital ID ช่วยให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น เพราะการยืนยันตัวตนแบบเดิมจะต้องมีการเตรียมเอกสารที่เสี่ยงทำให้เกิดการตกหล่น รวมถึงมีการยืนยันตัวตนซ้ำซ้อนที่อาจสร้างความอันตรายต่อข้อมูลส่วนตัวของประชาชนได้ เช่น การทำเอกสารที่เตรียมไประหว่างทางหาย หรือไม่มีการเซ็นเกิดขึ้น ถูกมิจฉาชีพหลอกเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในทางไม่ดี 

ซึ่งประชาชนที่มีบัญชีผู้ใช้งาน ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงจะสามารถดเข้าถึงข้อมูลและบริการต่าง ๆ 

ด้านผู้ประกอบการธุรกิจ

ประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนได้คือ Digital ID จะช่วยให้สามารถทราบถึงตัวตนของผู้ใช้งานได้รวดเร็วและปลอดภัย โดยไม่ต้องส่งเอกสารหรือตรวจเอกสารยืนยันตัวตนให้ยุ่งยาก

ดังนั้น Digital ID จึงมีประโยชน์กับทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นตัวประชาชนผู้ใช้งานเองและผู้ประกอบการ ช่วยให้ขั้นตอนการระบุและยืนยันตัวตนสะดวกขึ้น ลดความซับซ้อนและยังทำได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านโทรศัพท์ที่มีความปลอดภัย

 

ธุรกิจที่ใช้ Digital ID

ธุรกิจที่ใช้ Digital ID

ความจริงแล้ว Digital ID นั้นอยู่รอบตัวคุณมาสักพักแล้ว แต่บางคนอาจยังไม่รู้ว่ามันคือเทคโนโลยีนี้ ซึ่งก็มีหลายองค์กรได้นำไปใช้ในธุรกิจเพื่อความสะดวกสบาย ยกตัวอย่างเช่น

ธุรกิจบริการด้านการเงิน

บรรดาสถาบันด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ตลาดทุน หรือแม้กระทั่งธุรกิจประกันภัยก็ได้นำ Digital ID มาใช้บริการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานในช่องทางออนไลน์ และยังถือว่าเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มเอามาใช้ในการระบุและยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ขอใช้บริการเป็นเจ้าของเงินนั้นจริง ๆ อย่างบริการโอนเงินออนไลน์หลากหลายรูปแบบ การจ่ายบิลต่าง ๆ ที่ต้องมีการยืนยันข้อมูล รวมถึงการลงทะเบียนครั้งแรกได้ในช่องทางออนไลน์อีกด้วย เรียกว่า ‘National Digital ID’ (NDID), การเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ และการสมัครขอสินเชื่อออนไลน์

ธุรกิจบริการด้านสาธารณสุข

หลายบริษัทที่ให้บริการด้านสาธารณสุขก็ได้นำ Digital ID มาใช้เหมือนกัน อย่างการนำมาใช้ในบริการรูปแบบ E-Health บริการให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเบื้องต้นผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ขององค์กร เช่น แอปพลิเคชันของทางโรงพยาบาล, แอปพลิเคชันของสาธารณสุขและอีกมากมาย ช่วยให้ลูกค้านั้นเข้าถึงบริการได้ง่ายและเร็วขึ้นผ่านโทรศัพท์ ไม่ว่าจะจองคิวเข้าตรวจ การปรึกษาแพทย์ออนไลน์ หรือขอใบรับรองแพทย์

บริการของภาครัฐ

แม้กระทั่งบริการจากทางภาครัฐก็ใช้เทคโนโลยี Digital ID มาใช้ในองค์กรด้วยนะ ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐได้ง่ายและเร็วขึ้น ไม่ต้องหอบเอกสารแล้วเดินทางไปสำนักงานเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น D.DOPA แอปพลิเคชันของกรมการปกครองที่ผู้ใช้เข้าไปย้ายทะเบียน ลงทะเบียนอุดหนุนการเลี้ยงเด็กแรกเกิดหรือตรวจเช็กสิทธิรักษาพยาบาลในช่องทางออนไลน์ได้, แอปพลิเคชันเป๋าตังที่ให้ผู้ใช้งานเข้าไปรับสวัสดิการคนละครึ่งหรือเราเที่ยวด้วยกัน และแอปพลิเคชันหมอพร้อมที่ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าไปเช็กประวัติการรับวัคซีนตอนไหนก็ได้ผ่านสมาร์ทโฟน

 

Digital ID ในประเทศไทย

Digital ID ในประเทศไทย

ปัจจุบันมีหน่วยงานอย่าง ETDA (Electronic Transactions Development Agency) ที่คอยขับเคลื่อนผลักดันให้ประเทศไทยนำเอาเทคโนโลยี Digital ID มาใช้ในการทำกิจกรรมหรือธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมในด้านกฎหมายที่มารับรองเทคโนโลยีนี้ด้วย สำหรับในประเทศไทยมีการใช้ ตั้งแต่ปี 2562 มีพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่) พ.ศ. 2562 รองรับว่า ‘ใครก็ตามยืนยันตัวตน หากมีการยืนยันตัวตนผ่านระบบ ถือว่าได้ทำแล้วและหากระบบนั้นน่าเชื่อถือ เชื่อได้เลยว่าเป็นตัวจริง ไม่ต้องพิสูจน์’ ซึ่งระบบที่ว่าอยู่ในกฎหมายลูก (ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. …)

หากกฎหมายนี้ผ่าน ETDA ก็จะสามารถตรวจสอบ รับรองและให้ใบอนุญาตกับผู้ให้บริการ Digital ID ซึ่งหน่วยงานที่นำบริการจากผู้ให้บริการเหล่านี้ก็จะเกิดความเชื่อมั่นและมีผลตามกฎหมาย และเชื่อได้ว่าคนที่ใช้ Digital ID ระบุและยืนยันตัวตนเป็นตัวจริง ในส่วนของมาตรฐานของ Digital ID ทาง ETDA ก็มีการจัดทำมาตรฐานที่มีการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งได้อัปเดตล่าสุดปี 2564 ที่ผ่านมา จะเป็นการบอกได้ว่าระดับความน่าเชื่อถือในการระบุและยืนยันตัวตนมีกี่ระดับ 

ทางรัฐบาลเองก็ได้มีการสนับสนุนให้นำเอา Digital ID มาปรับใช้การหลายหน่วยงานภายในประเทศมาสักพักใหญ่แล้ว โดยเริ่มจากหน่วยงานใหญ่ก่อนอย่างธนาคารหรือหน่วยงานรัฐ เพราะเป็นธุรกรรมที่สำคัญมากที่ต้องมีการระบุและยืนยันตัวตน

 

ผู้เขียนหวังว่าในอนาคตบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ จะเริ่มใช้ Digital ID กันมากขึ้น เพราะนอกจากปลอดภัยแล้ว ยังสะดวกสบายกับผู้ใช้งานอีกด้วย

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก