Performance Marketing คือ

การตลาดแบบ Performance Marketing รวมเรื่องที่คุณต้องรู้

M.Veena, 17 September 2021

Performance Marketing คืออะไร

หากคุณต้องการใช้งบในการทำการตลาดออนไลน์ให้คุ้มค่ามากที่สุดในยุคนี้ การตลาดแบบ Performance Marketing คือคำตอบที่ดีที่สุด และเรารวบรวมเรื่องที่คุณจำเป็นต้องรู้มาไว้ในบทความนี้ให้แล้ว ตั้งแต่ Performance Marketing คืออะไร มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร แพลตฟอร์มไหนบ้างที่เหมาะจะทำการตลาดแบบนี้ และธุรกิจไหนบ้างที่เหมาะกับการทำตลาดแบบ Performance Marketing

Performance Marketing คือ การตลาดออนไลน์ในแบบที่คุณซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าและบริการ (Brands) จ่ายเงินค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามผลลัพธ์ที่คุณได้ประโยชน์จริง ๆ เท่านั้น (Performance-based Pricing) โดยจ่ายให้กับผู้ให้บริการ (Service Providers) ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นแพลตฟอร์ม (Platforms) หรือเว็บไซต์ (Publishers) ต่าง ๆ ก็ได้ แต่เงื่อนไขสำคัญของการตลาดแบบนี้คือผู้ให้บริการจำเป็นต้องลงมือทำงานให้คุณเห็นถึงประสิทธิภาพของโฆษณาบนแพลตฟอร์มของพวกเขาเสียก่อนจึงจะได้รับค่าตอบแทนจากคุณตามที่มีการตกลงกันไว้

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณลงแบนเนอร์โฆษณากับแพลตฟอร์มหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขที่ตกลงกันคือคุณจะจ่ายเงินให้กับแพลตฟอร์มตามจำนวนครั้งที่มีคนคลิกแบนเนอร์ แต่ในช่วงแรกไม่มีคนคลิกเลย คุณก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้กับแพลตฟอร์ม ต่อมาทางแพลตฟอร์มเกิดมีการปรับปรุงวิธีแสดงโฆษณาให้ใหม่ซึ่งมีความน่าสนใจมากขึ้น จนมีคนคลิกแบนเนอร์ของคุณเยอะขึ้น ทำให้มีลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาซื้อของที่ร้านของคุณมากมาย คุณก็ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาให้กับแพลตฟอร์มนั้นตามจำนวนครั้งที่มีคนคลิกแบนเนอร์ของคุณ

ขั้นตอนในการทำการตลาดแบบ Performance Marketing

สำหรับผู้ที่สนใจต้องการเพิ่มยอดขายด้วยวิธีนี้ มาดูกันต่อเลยว่าการทำแคมเปญ Performance Marketing แต่ละครั้งมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

#1 วางแผนก่อน

อันดับแรกจะต้องมีการกำหนดผลลัพธ์หรือวางเป้าหมายที่ต้องการจากการทำแคมเปญ เช่น ต้องการให้มีคนคลิกเข้าไปดูหน้าสินค้าและบริการของแบรนด์เป็นจำนวน 10,000 คน ต้องการให้มีคน Subscribe รับอีเมลการตลาดเพิ่มขึ้น 10 เท่า ฯลฯ จากนั้นควรศึกษาเงื่อนไขการจ่ายเงินแต่ละรูปแบบให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งที่นิยมใช้กันมีหลายวิธี ได้แก่ จ่ายเมื่อขายสินค้าได้ (Cost Per Sale) จ่ายเมื่อมีการดาวน์โหลดแอป (Cost Per Install) จ่ายเมื่อผู้มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้ายินยอมให้ข้อมูลด้วยการกรอกฟอร์มลงทะเบียน (Cost Per Lead) และจ่ายเมื่อมีคนคลิกเข้าชมโฆษณา (Cost Per Click)

#2 เลือกช่องทางในการทำการตลาด

ช่องทางที่ใช้ในการทำการตลาด (Channels) ที่เลือกใช้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงควรศึกษาว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใครและคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมออนไลน์อย่างไร (Buyer Persona Research) เช่น ชอบเข้าเว็บไซต์ไหน มีไลฟ์สไตล์อย่างไร และพวกเขาพบเจอกับปัญหาหรือคิดว่ามีจุดอ่อนอะไรเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่อยากให้มีการแก้ไขบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังจะมีประโยชน์ในการเตรียมคอนเทนต์ซึ่งอยู่ในขั้นตอนต่อไปด้วย

ช่องทางการตลาดสำหรับ Performance Marketing ที่นิยมใช้กัน ได้แก่

  • การแสดงโฆษณาแบบตรงไปตรงมา (Display Ads) ในรูปแบบ Banner, Pop-up, Floating และ Expandable
  • การโฆษณาแบบแฝงไปกับเนื้อหา (Native Ads) ในรูปแบบของคำแนะนำที่พบบ่อยในส่วนท้ายของบทความ
  • การตลาดผ่านเครื่องมือค้นหาบนอินเทอร์เน็ต (Search Engine Marketing, SEM) ในรูปแบบการจ่ายเงินเพื่อให้ข้อความปรากฎเมื่อมีการใช้คำค้นหา
  • การตลาดโซเชียลมีเดีย (Social Media Marketing) ในรูปแบบของโฆษณาบนฟีดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ
  • การตลาดแบบมีพันธมิตรช่วยกันขาย (Affiliate Marketing) ในรูปแบบการเลือกหาอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือบุคคลที่สนใจมาช่วยโปรโมทผลิตภัณฑ์

รูปภาพ: ช่องทางการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหาบนอินเทอร์เน็ต

#3 เตรียมคอนเทนต์

จากการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า (Buyer Persona Research) ในขั้นตอนก่อนหน้า ตอนนี้คุณทราบแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณมีพฤติกรรมอย่างไร และขั้นตอนนี้จะเป็นการเตรียมคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่จะใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมเหล่านั้นและแพลตฟอร์มที่คุณเลือกใช้

แพลตฟอร์ม (Performance Marketing Platforms) คือ เครือข่ายออนไลน์ที่ให้บริการด้านการตลาดและมีบริการติดตามผลแคมเปญและมีการวิเคราะห์สถิติต่าง ๆ เช่น Leads, Clicks, Conversions และ Bounce Rates ซึ่งเมื่อนำตัวเลขเหล่านี้มาวิเคราะห์รวมกันจะทำให้คุณทราบถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการทำแคมเปญ

ตัวอย่างแพลตฟอร์มในการทำการตลาดแบบ Performance Marketing แบ่งตามประเภทของโฆษณา*:

Digital Ads – Google Marketing Platform, Choozle
Native Ads – Taboola, Facebook Audience Network
Search Engine Marketing – Google AdWords, Bing Ads, Yahoo Ads
Social Media Marketing – Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, LinkedIn
Affiliate Marketing – CJ Affiliate, Shareasale

*Source: https://www.demandjump.com/blog/performance-marketing-101

#4 ติดตามผลการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพแคมเปญ

ตลอดระยะเวลาของการทำแคมเปญ ควรมีการติดตามประสิทธิภาพและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าวิธีไหนบ้างที่ใช้ได้ผลดีและทำการปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้มากที่สุด

#5 ประเมินผลและหาแนวทางปรับเปลี่ยน

หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาของแคมเปญแล้ว ควรมีการสรุปและทบทวนผลการดำเนินงาน โดยนำผลลัพธ์ที่ได้มาเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ในตอนเริ่มต้นและนำผลการประเมินมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อสร้างแคมเปญที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

สรุปประเด็นน่าคิด

หากเรามองในแง่ของความคุ้มค่าแล้ว การตลาดแบบ Performance Marketing นี้ให้ประสิทธิผล (Performance) คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายออกไปมากกว่าการโฆษณาที่มุ่งเน้นแค่ให้คนจำนวนมากได้เห็นโฆษณาเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังข้อดีอื่น ๆ อีก เช่น สามารถวางแผนเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำขึ้น มองเห็นผลลัพธ์โดยรวมได้ชัดเจนผ่านการวัดประเมินผลและการตั้ง KPI สามารถปรับเปลี่ยนแคมเปญให้มีความเหมาะสมได้ตลอด และคุณยังมั่นใจได้ว่าแคมเปญของคุณจะไม่ถูกทอดทิ้งหลังจากปล่อยแคมเปญไปแล้วอย่างแน่นอน เนื่องจากแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ที่เป็นผู้ให้บริการจะช่วยคิดหาเทคนิคใหม่ ๆ มาทำให้โฆษณาของคุณได้ผลอยู่ตลอดระยะเวลาที่ทำแคมเปญ เพราะรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่คุณได้รับจากการลงโฆษณาเช่นกัน

ธุรกิจไหนบ้างที่เหมาะกับการทำตลาดแบบ Performance Marketing
Performance Marketing สามารถนำมาใช้ได้กับธุรกิจเกือบทุกประเภทที่มีเว็บไซต์หรือหน้าร้านออนไลน์ที่น่าเชื่อถือพร้อมรองรับการขายสินค้า และมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำ Performance Marketing เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากคุณยังไม่มีทรัพยากรบุคคลที่จะมารับผิดชอบการทำโฆษณาออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการลงโฆษณา การตั้งค่าเพื่อติดตามผล หรือการดึงข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ คุณก็อาจจะเลือกหาทีมงาน Performance Marketing Specialists อย่าง Digimusketeers ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้โดยตรงมาช่วยดูแลและทำแคมเปญให้ก็ได้ ###

 


ข้อมูลจาก https://www.demandjump.com/blog/performance-marketing-101#benefits

คุณกำลังต้องการเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือไม่

ปรึกษาฟรี!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ของเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับ
Manage Consent Preferences บันทึก